วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เอ๊ะมาได้ไงเนี่ย โผล่คลองบางหลวง

      วันนั้นอยู่ๆก็เดินเท้าออกจากบ้านจำได้ว่านั่งรถมาเรื่อยๆหลายต่อทั้งรถเมล์และจักรยานยนตร์รับจ้าง ยังงงๆมึนๆกับตัวเองอยู่เหมือนกัน "ตะลอนตามอำเภอใจ" จนกระทั่งถึงชุมชนคลองบางหลวง แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ "เอ๊ะมาได้ไงเนี่ย" (ถามตัวเองอยู่ในใจ) พอเดินข้ามคลองมาได้ เจอก้วยเตี๋ยวหมูสูตรโบราณ ตรงหัวมุมเป็นร้านอยู่ในบ้านไม้ห้องแถวริมคลอง จะรออะไรละครับบ่ายโมงกว่าแล้ว บอกเลยว่าหิวมาก แถมเจออาหารของคนกินเส้นที่ผมโปรดปรานเป็นพิเศษ จะรอช้าอยู่ใยโต๊ะว่างพอดี...
         แม่ค้ามองหน้าผม ส่วนผมก็ปล่อยเสียงออกจากปากทันที "เส้นหมี่เย็นตาโฟชามนึงครับเจ้" จริงๆคนขายน่าจะรุ่นป้าแล้วนะ ไม่น่าเชื่อเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ผู้ช่วยเจ้เป็นผู้หญิงรุ่นราวคราวเดียวกันยกชามก้วยเตี๋ยวมาวางไว้บนโต๊ะด้านหน้าผมเย็นตาโฟสีสันน่ากินทีเดียว ขอเวลากินก้วยเตี๋ยวก่อนละ ส่วนใครที่มาคลองบางหลวงก็ลองมากินก้วยเตี๋ยวร้านเจ้แกดูนะรับรองไม่ผิดหวังเรื่องความอร่อยครับ
          แหล่งท่องเที่ยวอย่างคลองบางหลวง เมื่อสองปีที่แล้วที่ผมเคยมากับวันนี้ ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนที่ปลูกเป็นห้องแถวไม้เรียงรายบริเวณริมคลองและปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านค้า ขายอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ร้านตัดผม เสริมสวย นวดฝ่าเท้า ร้านกาแฟนั่งชิวๆ ร้านโชห่วยพื้นบ้าน รวมถึงงานศิลปะต่างๆ สิ่งเหล่านี้ ยังคงเป็นเสน่ห์พื้นบ้านเติมเต็มความสุขสำหรับผู้ที่มาเยือนจากภายนอกชุมชนไม่เปลี่ยนแปลง
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ราชสำนักย้ายมาอยู่ที่กรุงธนบุรี คลองบางกอกใหญ่กลายมาเป็นชุมชนของข้าหลวง และโปรดเกล้าให้บรรดาคนจีนซึ่งได้เคยช่วยเหลือพระองค์มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า "คลองบางข้าหลวง" หรือ "คลองบางหลวง" สืบมาถึงในปัจจุบัน และต่อมารัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร กำหนดให้คลองบางกอกใหญ่เป็นคลองสำคัญซึ่งจะต้องอนุรักษ์ไว้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ปากคลองบางกอกใหญ่แยกจาก
แม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งขวาของป้อมวิไชยประสิทธิ์ ไปสิ้นสุดที่คลองมอญ ตรงข้ามปากคลองชักพระมีความยาวประมาณ 6 กิโลเมตร
 ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" ถ้ามาเที่ยวที่คลองบางหลวง ก็อย่าลืมแวะเวียนมาทำบุญเที่ยวชมวัดวัดกำแพง เป็นวัดเล็กๆที่อยู่คู่คลองบางหลวงมานานแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา มีปูชนียสถานที่สำคัญ คือ หลวงพ่ออู่ทอง หรือที่ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อโต ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงพ่ออู่ทอง เป็นพระปางสมาธิหน้าตักกว้าง 2.49 เมตร ศิลปะแบบอู่ทอง องค์พระพุทธรูปสันนิษฐานว่าเป็นหินทรายแดง นอกจากนี้มีพระปรางค์โบราณ แม้จะบูรณะซ่อมแซมใหม่ แต่ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ และยังค้นพบเศียรพระหินทรายแดงในห้องใต้ดินอีกด้วย วันนี้บอกได้เลยว่าอิ่มท้องอิ่มบุญแถมได้ออกกำลังขาด้วยการเดินอีกด้วย...!!!
                 "นายตะลอน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น