วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เอ๊ะมาได้ไงเนี่ย โผล่คลองบางหลวง

      วันนั้นอยู่ๆก็เดินเท้าออกจากบ้านจำได้ว่านั่งรถมาเรื่อยๆหลายต่อทั้งรถเมล์และจักรยานยนตร์รับจ้าง ยังงงๆมึนๆกับตัวเองอยู่เหมือนกัน "ตะลอนตามอำเภอใจ" จนกระทั่งถึงชุมชนคลองบางหลวง แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ "เอ๊ะมาได้ไงเนี่ย" (ถามตัวเองอยู่ในใจ) พอเดินข้ามคลองมาได้ เจอก้วยเตี๋ยวหมูสูตรโบราณ ตรงหัวมุมเป็นร้านอยู่ในบ้านไม้ห้องแถวริมคลอง จะรออะไรละครับบ่ายโมงกว่าแล้ว บอกเลยว่าหิวมาก แถมเจออาหารของคนกินเส้นที่ผมโปรดปรานเป็นพิเศษ จะรอช้าอยู่ใยโต๊ะว่างพอดี...
         แม่ค้ามองหน้าผม ส่วนผมก็ปล่อยเสียงออกจากปากทันที "เส้นหมี่เย็นตาโฟชามนึงครับเจ้" จริงๆคนขายน่าจะรุ่นป้าแล้วนะ ไม่น่าเชื่อเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ผู้ช่วยเจ้เป็นผู้หญิงรุ่นราวคราวเดียวกันยกชามก้วยเตี๋ยวมาวางไว้บนโต๊ะด้านหน้าผมเย็นตาโฟสีสันน่ากินทีเดียว ขอเวลากินก้วยเตี๋ยวก่อนละ ส่วนใครที่มาคลองบางหลวงก็ลองมากินก้วยเตี๋ยวร้านเจ้แกดูนะรับรองไม่ผิดหวังเรื่องความอร่อยครับ
          แหล่งท่องเที่ยวอย่างคลองบางหลวง เมื่อสองปีที่แล้วที่ผมเคยมากับวันนี้ ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนที่ปลูกเป็นห้องแถวไม้เรียงรายบริเวณริมคลองและปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านค้า ขายอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ร้านตัดผม เสริมสวย นวดฝ่าเท้า ร้านกาแฟนั่งชิวๆ ร้านโชห่วยพื้นบ้าน รวมถึงงานศิลปะต่างๆ สิ่งเหล่านี้ ยังคงเป็นเสน่ห์พื้นบ้านเติมเต็มความสุขสำหรับผู้ที่มาเยือนจากภายนอกชุมชนไม่เปลี่ยนแปลง
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ราชสำนักย้ายมาอยู่ที่กรุงธนบุรี คลองบางกอกใหญ่กลายมาเป็นชุมชนของข้าหลวง และโปรดเกล้าให้บรรดาคนจีนซึ่งได้เคยช่วยเหลือพระองค์มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า "คลองบางข้าหลวง" หรือ "คลองบางหลวง" สืบมาถึงในปัจจุบัน และต่อมารัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร กำหนดให้คลองบางกอกใหญ่เป็นคลองสำคัญซึ่งจะต้องอนุรักษ์ไว้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ปากคลองบางกอกใหญ่แยกจาก
แม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งขวาของป้อมวิไชยประสิทธิ์ ไปสิ้นสุดที่คลองมอญ ตรงข้ามปากคลองชักพระมีความยาวประมาณ 6 กิโลเมตร
 ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" ถ้ามาเที่ยวที่คลองบางหลวง ก็อย่าลืมแวะเวียนมาทำบุญเที่ยวชมวัดวัดกำแพง เป็นวัดเล็กๆที่อยู่คู่คลองบางหลวงมานานแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา มีปูชนียสถานที่สำคัญ คือ หลวงพ่ออู่ทอง หรือที่ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อโต ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงพ่ออู่ทอง เป็นพระปางสมาธิหน้าตักกว้าง 2.49 เมตร ศิลปะแบบอู่ทอง องค์พระพุทธรูปสันนิษฐานว่าเป็นหินทรายแดง นอกจากนี้มีพระปรางค์โบราณ แม้จะบูรณะซ่อมแซมใหม่ แต่ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ และยังค้นพบเศียรพระหินทรายแดงในห้องใต้ดินอีกด้วย วันนี้บอกได้เลยว่าอิ่มท้องอิ่มบุญแถมได้ออกกำลังขาด้วยการเดินอีกด้วย...!!!
                 "นายตะลอน"

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561

สร้างศิลปะภาพถ่ายโทรศัพท์ สะท้อนความงามกรุงเทพฯ

              คยมีคำกล่าวที่ว่าภาพถ่ายที่ดีนั้นจะต้องสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น สามารถสื่อเรื่องราวได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง และในอดีตการจะได้ภาพถ่ายสักรูป ก็ต้องใช้กล้องถ่ายรูปบันทึกภาพ พอถ่ายเสร็จก็ต้องนำฟิล์มไปล้างเพื่อให้ได้ภาพหรือรูปที่ถ่ายไว้ และถือเป็นกระบวนการการถ่ายภาพกล้องฟิล์ม และต้องมาลุ้นว่าภาพที่ถ่ายมานั้นเมื่อล้างออกมาเป็นรูปหรือภาพแล้วจะดูดี สวย หรือเสีย ซึ่งถือเป็นเสน่ห์และคลาสสิคมากๆในกระบวนการถ่ายภาพกล้องฟิล์ม
            ปัจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยล้ำหน้าอย่างฉุดไม่อยู่เข้าสู่ยุคดิจิตอล การสื่อสารที่ล้ำหน้ารวดเร็วในโซเซียลมีเดีย รวมถึงเครื่องมือสารอย่างโทรศัพท์ที่ถูกพัฒนาให้เทคโนโลยีทันสมัย สอดรับกับสื่อโซเซียลมีเดีย มีการพัฒนากล้องถ่ายรูปในโทรศัพท์อย่างสมาร์ทโฟน และแอปพลิเคชันต่างๆที่ช่วยให้การใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพสนุกมากขึ้น และสร้างศิลปะบนภาพถ่ายชนิดไร้ขีดจำกัดอีกด้วย
   แน่นอนว่าผมหยิบยกเรื่องราวการถ่ายภาพมาเขียนถึง เพราะมีโอกาสมา "ตะลอนตามอำเภอใจ" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ เดินชมนิทรรศการภาพถ่าย บิวติฟูล แบงก์ค็อก สมาร์ทโฟน โฟโต้คอนเทส บาย เอ็มคิวดีซี (Beautiful Bangkok : Smartphone Photo Contest By MQDC) ซึ่งแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์เปเรชั่น (MQDC) ร่วมกับ โฟโต้บางกอก ชวนผู้รักการถ่ายภาพจับจังหวะความงามของกรุงเทพฯ ในมุมมองของตนเองจากสมาร์ทโฟน ภายใต้แนวคิด Beautiful Bangkok หรือ ความงามกรุงเทพฯ
แล้วส่งเข้าประกวดเพื่อร่วมแสดงนิทรรศการภาพถ่ายจากสมาร์ทโฟนครั้งแรกในเมืองไทย เพราะการถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือไม่เพียงแต่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังสามารถก้าวข้ามพรหมแดนสู่โลกศิลปะอีกด้วยโดยภาพถ่ายที่ได้รับการคัดเลือกได้จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมฯ ระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม – 9 กันยายน 2561
  สำหรับนิทรรศการการประกวดถ่ายภาพ บิวติฟูล แบงก์ค็อกฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลโฟโต้บางกอก 2018 และยังมี
นิทรรศการภาพถ่ายหลักๆที่จัดขึ้นด้วย อาทิ โพสต์-รีโพสต์-แชร์, ไทย นิวเวฟ, เฟรนช์ คอนเน็คชั่น,ทาร์เก็ทส์, โฟโต้บุค แอส แอน อ็อบเจ็คต์ โฟโต้บุค วูห์แครส์, สตรีท โฟโต้กราฟ และ อินเตอร์แอคทีฟ อินสตอเรชั่น โดยคุณปิยทัต เหมทัต ผู้อำนวยการศิลปะ เทศกาลโฟโต้บางกอก 2018 เล็งเห็นว่า เทศกาลภาพถ่ายที่จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี และเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2015 เป็นการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินช่างภาพของไทยและทวีปเอเชียได้ร่วมแสดงผลงาน ตลอดจนพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะภาพถ่าย  ซึ่งเทศกาลโฟโต้บางกอก 2018 จะช่วยชูความพร้อมของกรุงเทพฯ ในการเป็นศูนย์กลางของเอเชีย ที่มีความสามารถจัดงานด้านทัศนศิลป์สาขาภาพถ่ายร่วมสมัย ให้เป็นที่รู้จักระดับสากล และกระตุ้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศิลปะภาพถ่ายในประเทศให้ตื่นตัวด้วย
                  ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" การเดินชมนิทรรศการภาพถ่าย บิวติฟูล แบงก์ค็อกฯ บริเวณผนังโค้งชั้น 7-8 ของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร นอกจากจะได้เห็นความงดงามและเรื่องราวต่างๆในกรุงเทพมหานคร ที่สะท้อนผ่านภาพถ่ายจากผู้ผ่านการคัดเลือกร่วมแสดง 600 ภาพ  ซึ่งมีภาพของผม (นายตะลอน) ถูกคัดเลือกร่วมจัดแสดงด้วย 1 ภาพ (ชื่อภาพฉันง่วง) เป็นภาพผู้ชายกำลังนอนอยู่บนเก้าอี้บริเวณป้ายรถประจำทาง ซึ่งที่มาของภาพคือผมนั่งรถเมล์ผ่านมาแถวซอยรางน้ำ อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ มีแสงแดดตกกระทบสวยงามบนร่างของผู้ชายที่นอนอยู่ ในความรู้สึกส่วนตัวที่เห็นขณะนั้น อีกทั้งยังสะท้อนวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ด้วย จึงใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพเก็บไว้...!!!
                            "นายตะลอน"

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เปิดมิติหนังทางปัญญา ศิลปะภาพเคลื่อนไหว

             "มึกย่าง ถังแตก โอเลี้ยง ชาดำเย็น น้ำเย็นๆมาแล้ว" เสียงพ่อค้าเดินเร่ขายปลาหมึกแห้งย่างเสียบไม้ใหญ่ๆ ขนมถังแตกทำจากแป้งใส้ในโรยงา น้ำตาล และมะพร้าว อันใหญ่ๆหนานุ่ม ฯลฯ ภายใน "หนังกลางแปลง" ตามงานวัดต่างๆ พอนึกถึงทีไรมันมีความสุขและอบอุ่นกับวิถีบ้านๆขณะนั้นอย่างบอกไม่ถูก สมัยนั้นบ้านผมอยู่ฝั่งธนบุรี แถวถนนเอกชัย บางขุนเทียน ย่านนี้จะมีวัดอยู่ติดๆกันหลายวัด เวลามีหนังกลางแปลงมาฉายที่วัดไหน หน้าที่ของผมคือหอบเสื่อมาจองที่ให้ตัวเองผู้ใหญ่แต่หัววัน เพราะผู้ใหญ่เวลาเลิกงานกลับบ้านจะได้มีที่นั่งดูหนังกัน กว่าหนังจะฉายก็ประมาณ 2 ทุ่ม เด็กๆอย่างพวกผมก็วิ่งเล่นกันแถววัดยาวไป พอหนังฉายได้สักเรื่องก็หลับไหลไม่รู้เรื่อง พอรู้สึกตัวก็นั่นละผู้ใหญ่ปลุกให้ตื่นกลับบ้าน เพราะหนังที่ฉายเรื่องแรกๆจะหนังไม่ค่อยดี ตามภาษาชาวบ้านนะ ส่วนหนังดีๆเขาจะฉายท้ายๆ เพื่อดึงดูดคอหนังให้นั่งอยู่ยาวๆกัน และนี่ก็ถือเป็นประสบการณ์ในการดูหนัง หรือภาพยนตร์สมัยเด็กๆของผม จริงๆอยากเขียนอยากเล่าผ่านตัวหนังสือให้มากกว่านี้นะ เพราะมีเรื่องที่อยากเขียนอีกเยอะเลยแต่เอาไว้แค่นี้ก่อน เพราะเดี๋ยวจะยาวไป แต่ก็ดูเหมือนจะยาวจริงๆเสียแล้ว
        วันนี้มาเขียนถึงเรื่องหนังหรือภาพยนตร์ เพราะเมื่อวันเสาร์สัปดาห์ที่ผ่านมา (11 ส.ค.2561) มีโอกาสมา "ตะลอนตามอำเภอใจ" ที่RCAC BKK หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ร่วมงานเสวนาศิลปินศิลปาธร พ.ศ. 2561 สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว ซึ่งมีคุณโสฬส สุขุม หรือคุณทองดี โปรดิวเซอร์อิสระ ผู้ได้รับรางวัลศิลปาธร จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม มาเล่าถึงประสบการณ์การทำภาพยนตร์ในห้วงเวลาที่ผ่านมา แน่นอนครับว่าสำหรับผมการได้นั่งฟังเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ทางปัญญาพอสมควร เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ใช่คนที่จะได้ดูภาพยนตร์อะไรนักหนา เพราะบางทีก็เบื่อหนังที่เน้นเอาฮาอย่างเดียวบางครั้งก็หาสาระไม่ค่อยเจอ แต่ก็พอเข้าใจว่าผู้สร้างหนัง นายทุนหรือเจ้าของเม็ดเงิน บางทีก็ต้องเน้นผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าจะเน้นสาระให้เกิดปัญญากับชาวบ้าน
           สำหรับคุณโสฬส สุขุม หรือคุณทองดี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต สาขาภาพยนตร์ และน่าจะเป็นโปรดิวเซอร์อิสระเพียงไม่กี่คนที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ซึ่งยืนหยัดสร้างหนังหรือภาพยนตร์อิสระ หนังทางเลือกที่ไม่เน้นทางธุรกิจ แต่ที่ผ่านมาภาพยนต์ที่คุณโสฬส อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังก็ได้รับการตอบรับจากคอหนังแนวนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างมากมาย จนปลุกกระแสให้ผู้คนหันมาสนใจหนังอิสระมากขึ้น อาทิ ปี 2550 ภาพยนตร์ Wonderful Town กำกับโดยคุณอาทิตย์ อัสสรัตน์ ปี2552 ภาพยนตร์ Hi-so กำกับโดยคุณอาทิตย์ อัสสรัตน์ ปี2552 ภาพยนตร์ เจ้านกกระจอก กำกับโดยคุณอโนชา สุวิชากรพงศ์ ปี2552 ภาพยนตร์ ที่รัก กำกับโดยคุณศิวโรจน์ คงสกุล ปี2557 ภาพยนตร์ภวังค์รัก กำกับโดยคุณลี ชาตะเมธีกุล ปี2555 ภาพยนตร์แต่เพียงผู้เดียว กำกับโดยคุณคงเดช จาตุรันต์รัศมี ปี2556 ภาพยนตร์ตั้งวง กำกับโดยคุณคงเดช จาตุรันต์รัศมี ปี2557 ภาพยนตร์เอวัง กำกับโดยคุณคงเดช จาตุรันต์รัศมี ปี2559 ภาพยนตร์Snap แค่…ได้คิดถึง กำกับโดยคุณคงเดช จาตุรันต์รัศมี ปี2559 ภาพยนตร์ดาวคะนอง กำกับโดยคุณอโนชา สุวิชากรพงศ์  และภาพยนตร์Motel Mist หรือ โรงแรมต่างดาว กำกับโดยคุณปราบดา หยุ่น นักเขียนชื่อดังผันตัวมาทำภาพยนตร์เป็นเรื่องแรกของตัวเอง
                 ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" เขียนเพลินจนเกือบจะเกินพื้นที่ สำหรับหนังทางเลือก หรือภาพยนตร์อิสระในอนาคตจะเติบโตอย่างแข็งแรงได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพลักดันและขับเคลื่อนก็คงจะดีกว่าที่ผ่านมา  นอกเหนือจากการพึ่งพากองทุนต่างประเทศ และบริษัทเอกชนบางแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของคนทำภาพยนตร์แนวนี้เป็นหลักใหญ่แต่ก็ใช่ว่าจะได้รับการสนับสนุนอยู่ตลอด เพื่อให้คนทำหนังประเภททางเลือกหรือหนังอิสระสามารถสร้างงานศิลปะภาพเคลื่อนไหวได้อย่างแข็งแรงและมั่นคง และเป็นการเปิดมิติใหม่ทางปัญญาผ่านการดูหนังอิสระสะท้อนสังคม หรือภาพยนตร์นอกกระแส เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชน...!!!
                                "นายตะลอน"

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เยือนถิ่นตลาดผ้าเก่าแก่ กินก๋วยเตี๋ยวพม่าพาหุรัด

        มัยก่อนตอนผมเด็กๆช่วงที่เรียนหนังสืออยู่ชั้นป.ว.ช.มีโอกาสแวะเวียนมาย่านพาหุรัด เยาวราช บ้านหม้อ ปากคลองตลาด อยู่บ่อยครั้ง ขณะนั้นบ้านผมอยู่แถวถนนเอกชัย ฝั่งธนบุรี แต่มีโอกาสข้ามฝั่งมาเที่ยวย่านนี้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสถานที่ต่างๆเหล่านี้สามารถเดินเท้าถึงกันหมด และหากรู้จักตรอกซอกซอยด้วยแล้ว ก็ยิ่งสะดวกในการเดินลัดซอยนู้นไปทะลุออกซอยนี้ไม่ต้องเดินอ้อมถนนให้เมื่อยขาครับ 



        ถ้าจะบอกว่าย่านพาหุรัดกับผมมันมีความพูกพันอะไรบางอย่างทางใจก็คงจะไม่ผิด เพราะขนาดมาปักหลักแถวชานเมืองกรุงเทพฯแถวรังสิต ก็ยังนั่งรถลงเรือโหนรถไฟมาเยือนถิ่นพาหุรัดอยู่บ่อยๆ อาจจะเป็นเพราะส่วนตัวชอบบรรยากาศการค้าการขาย วัฒนธรรมที่หลากหลายของผู้คนย่านนี้ เวลาได้เห็นมองทางนู้นที ทางนี้ทีมันเพลินตาไปหมด แถมยังมีของกินอร่อยๆให้เราได้เลือกกินอย่างหลากหลายด้วยนะ
นอกจากนี้ พาหุรัดยังเป็นตลาดผ้เก่าแก่ มีสินค้าให้เลือกอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผ้าตัดชนิดต่างๆ อุปกรณ์ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งแฟชั่น และท้องถิ่นของชาติต่างๆ อาทิ ชุดไทย จีน แขก และอื่นๆอีกมากมายหลายเชื้อชาติจริงๆ ซึ่งในย่านนี้ก็มีห้างดิโอลด์สยามพลาซ่าสามารถมาเดินชิวๆเพลินๆได้ ห้างอินเดีย เอ็มโพเรียม และห้างไชน่า เวิลด์ สมัยก่อนเป็นห้างเซ็นทรัลวังบูรพา ผมทันนะสมัยเด็กๆมาเดินอยู่บ่อยๆ ใกล้ๆกันก็มีวัดซิกข์แห่งแรกของไทย คือวัดคุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภาอีกด้วย


ล่าสุดผมมีโอกาสมา "ตะลอนตามอำเภอใจ" เยือนถิ่นพาหุรัด ชนิดเดินทะลุทะลวงอีกครั้ง ระหว่างเดินมาตามตรอกหลังห้างอินเดียเอ็มโพเรียม ก็มองไปเห็นร้านขายอาหารริมทางเดิน มีผู้ชายต่างชาติก้มๆเงยๆกินอาหารกันอย่างออกรสชาติ แถมมีป้ายเขียนบอกว่าก๋วยเตี๋ยวพม่า เป็นภาษาไทย ส่วนตัวอักษรภาษาอื่นๆ อ่านไม่ออกจริงๆน่ะแต่ไม่เป็นไรแค่นี้ก็ทำให้ผมสะดุดหยุดนิ่งหน้าร้านแล้วละ พอได้
เก้าอี้นั่งจะรอช้าอยู่ใย แม่ค้ามองหน้านิดนึง คนข้างผมที่นั่งกินอยู่ก่อนแล้ว แหมๆสีสันน่ากินดีน่ะ ผมเลยบอกแม่ค้าว่าเอาเหมือนคนข้างๆนี่ละ แม่ค้าอมยิ้มเล็กน้อยก่อนจะลงมือทำก้วยเตี๋ยวให้ผม
สักพักนึงแม่ค้ายกก๋วยเตี๋ยวมาให้ คล้ายๆเส้นเล็กแห้งที่เคยกินอยู่ประจำ แต่แตกต่างกันคงจะเป็นเครื่องปรุงเฉพาะถิ่นไม่มีลูกชิ้นนะ อยากกินเผ็ดก็มีเครื่องปรุงคล้ายๆน้ำพริกเผาใส่เข้าไปสิ มีผงชูรสเป็นกระปุ๊กตั้งไว้ให้ใส่ไม่อั้น สำหรับคนชอบ แหมๆทีแรกเข้าใจว่าน้ำตาล หลังจากปรุงเสร็จจัดการก๋วยเตี๋ยวพม่าเสียหมดจาน อร่อยดีเหมือนกัน สงนราคาก็ 40 บาท วันหน้าถ้ามี
โอกาสผ่านมาอีก คงต้องมากินซ้ำอีกรอบ เพราะรอบนี้ผมปรุงไม่ค่อยครบสูตรเท่าไหร่คิดว่าน่ะ
ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" ก่อนจะมาเป็นย่านพาหุรัดจนถึงทุกวันนี้ ว่ากันว่าในสมัยกรุงธนบุรี เรียกว่าบ้านญวนหรือถนนบ้านญวน เพราะพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานที่ให้ชาวญวนที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ จนกระทั่งสร้างถนนพาหุรัดแล้วจึงเปลี่ยนชื่อมาเรียกว่าพาหุรัดตามชื่อถนน เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกผมคงต้องโบกมือลาย่านพาหุรัดไปก่อนว่างๆจะกลับมาเยือนใหม่ก็
แล้วกัน...!!!
                          "นายตะลอน"