กรมบังคับคดีเร่งแก้ปัญหาหนี้ กยศ. เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ในชั้นบังคับคดีสอดคล้องนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำหนดให้การแก้หนี้ กยศ. เป็นหนึ่ง ในโครงการ Quick Win ของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน
ที่กระทรวงยุติธรรม วันที่ 28 กันยายน 2566 นางเพ็ญรวี มาแสง รองอธิบดีกรมบังคับคดี และโฆษกกรมบังคับคดี แถลงการแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ. เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเผยว่าตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของ กรมบังคับคดี เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ที่ได้บังคับคดีกับทรัพย์สินของลูกหนี้ กยศ. ซึ่งมีจำนวน 46,458 คดี เป็นทุนทรัพย์ 6,680,717,342.68 บาท
ในการนี้ กยศ.ได้มีหนังสือถึงกรมบังคับคดี เพื่อขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีที่ กยศ. ได้ยึดทรัพย์ไว้ทุกคดี ซึ่งกรมบังคับคดีได้กำหนดเรื่องการช่วยเหลือและการให้โอกาสกับลูกหนี้ กยศ. เป็นเรื่องเร่งด่วน จึงได้แจ้งให้สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศดำเนินการให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยหาก กยศ. ได้แถลงงดการบังคับคดี โดยมิได้นำส่งหนังสือ แสดงความยินยอมของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหมายแจ้งลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมาให้ความยินยอม ในการที่ กยศ. แถลงของดการบังคับคดีไว้ เพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ดังนั้นหากลูกหนี้ กยศ. ที่ได้รับหมายแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดีในการให้ความยินยอมในการงดการบังคับคดี หรืองดการขายทอดตลาด สามารถไปติดต่อสำนักงานบังคับคดีทุกแห่งทั่วประเทศในการให้ความยินยอมดังกล่าว การดำเนินการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมบังคับคดีและ กยศ. เพื่อให้ลูกหนี้ กยศ. ได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในการถูกบังคับคดี
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำหนดให้การแก้หนี้ กยศ. เป็นหนึ่ง ในโครงการ Quick Win ของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาและจัดทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ตาม พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2566 เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น