วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566

กรมบังคับคดีเร่งช่วยเหลือลูกหนี้กยศ.ในชั้นบังคับคดี

 

          กรมบังคับคดีเร่งแก้ปัญหาหนี้ กยศ. เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ในชั้นบังคับคดีสอดคล้องนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำหนดให้การแก้หนี้ กยศ. เป็นหนึ่ง ในโครงการ Quick Win ของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน  

         ที่กระทรวงยุติธรรม วันที่ 28 กันยายน 2566 นางเพ็ญรวี มาแสง รองอธิบดีกรมบังคับคดี และโฆษกกรมบังคับคดี แถลงการแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ. เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเผยว่าตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566  ที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566  ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของ  กรมบังคับคดี  เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ที่ได้บังคับคดีกับทรัพย์สินของลูกหนี้ กยศ. ซึ่งมีจำนวน 46,458 คดี  เป็นทุนทรัพย์ 6,680,717,342.68 บาท    

          ในการนี้ กยศ.ได้มีหนังสือถึงกรมบังคับคดี เพื่อขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีที่ กยศ. ได้ยึดทรัพย์ไว้ทุกคดี  ซึ่งกรมบังคับคดีได้กำหนดเรื่องการช่วยเหลือและการให้โอกาสกับลูกหนี้ กยศ. เป็นเรื่องเร่งด่วน จึงได้แจ้งให้สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศดำเนินการให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยหาก กยศ. ได้แถลงงดการบังคับคดี โดยมิได้นำส่งหนังสือ   แสดงความยินยอมของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหมายแจ้งลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมาให้ความยินยอม   ในการที่ กยศ. แถลงของดการบังคับคดีไว้ เพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 

           ดังนั้นหากลูกหนี้ กยศ. ที่ได้รับหมายแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดีในการให้ความยินยอมในการงดการบังคับคดี หรืองดการขายทอดตลาด สามารถไปติดต่อสำนักงานบังคับคดีทุกแห่งทั่วประเทศในการให้ความยินยอมดังกล่าว  การดำเนินการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมบังคับคดีและ กยศ. เพื่อให้ลูกหนี้ กยศ. ได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในการถูกบังคับคดี

          ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำหนดให้การแก้หนี้ กยศ. เป็นหนึ่ง ในโครงการ Quick Win ของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน  ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาและจัดทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้   ตาม พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2566  เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวต่อไป

วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2566

ครม.ตั้ง "วรรณพงษ์"อธิบดีกรมพินิจฯ ข้ามห้วยนั่งเลขาฯศอ.บต.คนใหม่


                                     (พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์)

       "วรรณพงษ์"อธิบดีกรมพินิจฯ ข้ามห้วยนั่งเลขาฯศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังที่ประชุมครมมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ

       ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่26 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (นักบริหาร ระดับสูง) กระทรวงยุติธรรม เป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 

         นอกจากนี้ มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายฐนัตถ์ สุวรรณานนท์ รองผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2566

รมว.ยุติธรรมกำชับแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนเกี่ยวข้องยาเสพติด


       รมว.ยุติธรรม ลงพื้นที่ให้กำลังใจเยาวชนสถานพินิจฯ-ศูนย์ฝึกและอบรมฯ กรมพินิจฯ สมุทรปราการ กำชับแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนเกี่ยวข้องยาเสพติดประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม

            วันที่ 23 กันยายน 2566  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะตรวจเยี่ยมและให้ข้อเสนอแนะในการทำงานแก่บุคลากรกรมพินิจฯ พร้อมทั้งให้กำลังใจ มอบอุปกรณ์กีฬา และขนม และร่วมรับประทานอาหารเช้าร่วมกับเด็กและเยาวชนในสถานที่ควบคุม ประกอบด้วย ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการ และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกรมพินิจฯและคณะกรรมการสงเคราะห์ฯ ให้การต้อนรับ

         พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวให้โอวาทกับเยาวชนความตอนหนึ่งว่าอย่าเอาความผิดพลาดในชีวิตของตนเองมาทำให้เราท้อถอย ทุกคนยังมีโอกาส เพราะเราคืออนาคตของชาติ ที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เรามีการศึกษา มีอาชีพ และพร้อมกลับไปสู่สังคม
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังกล่าวชื่นชมการดำเนินงานของกรมพินิจฯ ที่ดำเนินงานได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ พร้อมเน้นย้ำถึงเรื่องวิธีการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมในการหาแนวทางสำหรับการสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนเพื่อต่อยอดและพัฒนาศักยภาพของตนเอง นำไปสู่การมีอาชีพที่มั่นคง และเป็นพลเมืองที่สำคัญของประเทศชาติต่อไป

กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน คว้ารางวัลดีเด่นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566


          กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 ทั้งหมด 109 องค์กรให้กับองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม ที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงาน ขณะที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน คว้ารางวัลดีเด่น

        ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการมอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2566 (Human Rights Awards 2023) ซึ่งจัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เมื่อเร็วๆนี้ (22 กันยายน 2566) 

        สำหรับในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลฯ ทั้งหมด 109 องค์กร แบ่งเป็น ประเภทภาครัฐ ประเภทราชการส่วนกลาง ระดับดีเด่น 2 องค์กร ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระดับดี 4 องค์กร ได้แก่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ระดับชมเชย 1 องค์กร ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ประเภทภาครัฐ ประเภทราชการส่วนภูมิภาค ระดับดีเด่น 8 องค์กร ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดพิษณุโลก, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 2 จังหวัดราชบุรี, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดยะลา, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการ, สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานยุติธรรมจังหวัดพิษณุโลก,  สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ระดับดี 28 องค์กร ได้แก่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 3 จังหวัดนครราชสีมา, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต7 จังหวัดเชียงใหม่, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนพระนครศรีอยุธยา, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการ, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนนทบุรี, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดบุรีรัมย์, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปราจีนบุรี, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพัทลุง, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพิษณุโลก, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสตูล, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสระแก้ว, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสิงห์บุรี, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุโขทัย, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอ่างทอง, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุดรธานี, สำนักงานคลังจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานคลังจังหวัดตาก, สำนักงานคลังจังหวัดลำปาง, สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร,     (พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รับมอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2566 ประเภทภาครัฐ ประเภทราชการส่วนกลาง ระดับดีเด่น จากพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม)

สำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น, สำนักงานสรรพากรพื้นที่มหาสารคาม, สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตราด ระดับชมเชย 8 องค์กร ได้แก่ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดแพร่, สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอ่างทอง, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดกำแพงเพชร, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดน่าน, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดกระบี่, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชุมพร, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครนายก ประเภทองค์กรรัฐวิสาหกิจ ระดับดีเด่น 5 องค์กร ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ระดับดี 2 องค์กร ได้แก่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ระดับดีเด่น 20 องค์กร ได้แก่ บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน), บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพีแรม จำกัด, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีบีเคเค (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด, บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด (มหาชน), บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ระดับดี 11 องค์กร ได้แก่ บริษัท จีเอสอี คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน), บริษัท พิษณุเวช จำกัด (โรงพยาบาลพิษณุเวช), บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน), บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โอคินอสฟู้ด จำกัด ระดับชมเชย 3 องค์กร ได้แก่ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด, บริษัท ยูนิเวอแซล แอพพาเรล จำกัด, บริษัท เอ็ม เอส พี อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดกลาง ระดับดีเด่น 1 องค์กร ได้แก่ บริษัท โปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ระดับดี 2 องค์กร ได้แก่ บริษัท ปราชญา สุขภาศรม จำกัด, บริษัท อันดารา รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า จำกัด ระดับชมเชย 3 องค์กร ได้แก่ บริษัท กุยลิ้มฮึ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท จี.เค. แอสเซ็มบลี้ จำกัด, บริษัท เทพไทย โปรดัคท์ จำกัด ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดย่อม ระดับดีเด่น 1 องค์กร ได้แก่ บริษัท เพ็ทสไมล์ บาย ด๊อกเตอร์ เพ็ท จำกัด ระดับชมเชย 5 องค์กร ได้แก่ บริษัท กุยลิ้มฮึ้ง จำกัด, บริษัท กุยลิ้มฮึ้ง ปราชญา จำกัด, บริษัท ปราชญา โฮเรก้า จำกัด, บริษัท มิตรใหม่ฟาร์ม จํากัด, บริษัท อโนนิมัศ รีพับบลิค จำกัด ประเภทองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม ระดับดี 1 องค์กร ได้แก่ บริษัท สเตปส์วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ระดับชมเชย 1 องค์กรได้แก่ บริษัท สังคมดี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัดประเภทองค์กรภาคประชาสังคม ระดับดีเด่น 1 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ระดับดี 2 องค์กรได้แก่ มูลนิธิวัฒนเสรี, มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์

        ทั้งนี้ องค์กรที่ได้รับรางวัลจะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ๆ รวมถึงร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อยกระดับการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ อย่างยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในภาพรวมต่อไป

วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2566

ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีอดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ ฟ้องปลัดทส.

 

            ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งที่ให้ออกจากราชการไว้ก่อน กรณีมีพฤติกรรมเรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชา โดยคดีนี้ศาลปกครองกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเร่งด่วน เสร็จสิ้นภายในเวลา 31 วัน

          เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ บ.242/2566 หมายเลขแดงที่ บ. 315/2566 ระหว่าง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้ฟ้องคดี กับ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดี

        คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลับ ที่ 44/2566 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีได้รับรายงานว่า ผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กลั่นแกล้งโยกย้ายตำแหน่งผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึงมีพฤติกรรมเรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี 

           ซึ่งในระหว่างการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีได้พิจารณาเห็นว่ามูลกรณีเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของหน่วยงาน รวมทั้งความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของประชาชนต่อการบริหารงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก หากจะให้ผู้ฟ้องคดีอยู่ในหน้าที่ราชการต่อไปอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ

           อีกทั้ง การสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงมีขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการ ประกอบกับมีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก จึงเห็นสมควรให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน กรณีจึงเห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป 

          เพื่อรอฟังผลการสอบสวนหรือพิจารณาตามเหตุผลข้างต้น เป็นการใช้ดุลพินิจตามหลักเกณฑ์ที่มาตรา 101 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับข้อ 83 วรรคหนึ่ง และข้อ 84 วรรคหนึ่ง ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 กำหนด อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบ ดังนั้น คำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลับ ที่ 44/2566 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง

       อนึ่ง คดีนี้อธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วน ตามข้อ 49/2 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 เพื่อให้ศาลสามารถพิจารณาพิพากษาคดีให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วตามลักษณะคดีที่มีความจำเป็นต้องพิจารณา โดยเร่งด่วน ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จสิ้นภายในเวลา 31 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีต่อศาล

วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2566

"ยุติธรรม"มุ่งเน้นความร่วมมือภาครัฐพลังอาสาสมัครคุมประพฤติดูแลแก้ไขผู้กระทำผิด

 

             มหกรรมรวมพลอาสาสมัครคุมประพฤติฯรมว.ยุติธรรมย้ำการดูแลแก้ไขผู้กระทำผิดโดยมุ่งเน้นความร่วมมือของภาครัฐและพลังของอาสาสมัครคุมประพฤติเป็นสำคัญ 

            ที่บริเวณหน้าห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ วันที่ 21 กันยายน 2566  พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด “มหกรรมรวมพลอาสาสมัครคุมประพฤติเพื่อปฏิบัติตามภารกิจของกรมคุมประพฤติ” พร้อมทั้งปล่อยแถวพนักงานคุมประพฤติและอาสาสมัครคุมประพฤติ จำนวน 5,000 คน ลงพื้นที่ติดตามดูแลช่วยเหลือและให้คำแนะนำกับผู้กระทำผิดในพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 10,000 ราย เพื่อร่วมแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยเฉพาะคดียาเสพติด ที่อยู่ในระบบการคุมความประพฤติ ไม่ให้หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ โดยมี นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม คณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ คณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติ และอาสาสมัครคุมประพฤติ เข้าร่วมฯ 

         พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรมคุมประพฤติ เป็นหน่วยงานในมิติด้านการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดที่มีอาสาสมัครคุมประพฤติเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของพนักงานคุมประพฤติในชุมชนที่จะติดตาม ดูแล และให้คำแนะนำสำหรับผู้กระทำผิดที่อยู่ในชุมชนให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการคุมความประพฤติ เพื่อให้พ้นการคุมความประพฤติด้วยดีและไม่กระทำผิดซ้ำหรือไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและอาชญากรรมต่าง ๆ 

           พันตำรวจเอก ทวี กล่าวอีกว่า ผู้ทำหน้าที่อาสาสมัครคุมประพฤติ ถือเป็นบุคคลผู้เสียสละที่จะลงไปช่วยเหลือแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน โดยเฉพาะคดียาเสพติด ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญ เพราะการเข้าใจ เข้าถึงปัญหาและการแก้ไขคงไม่มีใครที่จะมีความรู้ลึกได้มากไปกว่าอาสาสมัครคุมประพฤติ จึงขอถือโอกาสนี้ เน้นย้ำการดูแลแก้ไขผู้กระทำผิดโดยมุ่งเน้นความร่วมมือของภาครัฐและพลังของอาสาสมัครคุมประพฤติเป็นสำคัญ 

           "อยากให้กรมคุมประพฤติติดตามภารกิจงานด้านการยกระดับมาตรฐานงานสืบเสาะและพินิจ รวมทั้งการลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ ตลอดจนการพัฒนาการนำระบบการควบคุมตัวอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวมาใช้กับผู้กระทำผิด เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมให้ได้มาตรฐาน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

วันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2566

คุ้มครองสิทธิฯเยียวยา 2 แสนบาท พ่อแม่ใจโหดฆ่าลูกวัย 2 ขวบโบกปูน


            สะเทือนขวัญสังคมพ่อแม่ใจโหดฆ่าลูกวัย2 ขวบโบกปูน กรมคุ้มครองสิทธิฯ ชี้ทายาทมีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 2 แสนบาท

           นับได้ว่าเป็นคดีสะเทือนขวัญสังคมอย่างมากหลังนายเอ็ม อายุ 46 ปี และนางจุ๋ม อายุ 40 ปี สองสามีภรรยา พ่อแม่ใจโหดร่วมกันทำร้ายร่างกายลูกสาว อายุ 2 ขวบ เสียชีวิตในพื้นที่สายไหม กรุงเทพฯ และนำศพฝังดินโบกปูนในห้องครัวหลังบ้านในพื้นที่อ.ขาณุวรลักษบุรีจ.กำแพงเพชร ซึ่งทางคคีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหามาสอบเพิ่มพบข้อมูลเชื่อได้ว่ายังมีการกระทำความผิดในพื้นที่สายไหม และ พื้นที่ประชาชื่นอีกอย่างน้อย 3-4 ราย 

         ด้านนายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพและโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเบื้องต้นกรมคุ้มครองสิทธิฯได้ประสานงานกับนายปริญญา ปั้นงาม ยุติธรรมจังหวัดกำแพงเพชร  ในการลงพื้นที่แจ้งสิทธิให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิต เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ทายาทผู้เสียชีวิต ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559) พร้อมทั้งคำปรึกษาทางกฎหมายและการช่วยเหลืออื่น ๆ ด้วย

           นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเหตุที่เกิดกับเด็กเล็ก 2 ราย ซึ่งเป็นเรื่องสะเทือนขวัญของคนในสังคมอย่างมากและที่สำคัญพ่อแม่เป็นคนก่อเหตุด้วย ในการเยียวยาเบื้องต้นนั้น กรณีน้องที่เสียชีวิต ทายาทมีสิทธิได้รับการเยียวยา เป็นเงิน 200,000 บาท ส่วนน้องที่ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บนั้น จะได้รับเยียวยาตามความรุนแรงและสภาพของการบาดเจ็บต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ อีกครั้ง 

           ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า พ่อของเด็กเคยก่อเหตุเช่นนี้กับลูกอีกหลายคนนั้น คงต้องรอความชัดเจนของคดีความอีกครั้ง โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จะได้ติดตามและให้การช่วยเหลือต่อไป 


วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566

ผลสำรวจประชาชนเชื่อมั่นกรมบังคับคดีมากขึ้น


         ตะลึง ! ความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี  พบว่ามีค่าเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น

           นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกับรองศาสตราจารย์ พันตำรวจเอกหญิง ดร.กัญญ์ฐิตา ศรีภา และคณะผู้วิจัย บริษัท พีเอเอส คอนซัลแทนท์ แอนด์ รีเซิร์ช จำกัด เผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อเร็วๆนี้ (18 กันยายน 2566)  โดยผลจากการสำรวจพบว่า ค่าเฉลี่ย 9.20 คะแนน เชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีในภาพรวม ซึ่งสูงกว่าปีงบประมาณพ.ศ. 2565 ที่มีค่าเฉลี่ย 9.11 คะแนน

           นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี ระบุว่า กรมบังคับคดีมีภารกิจด้านการบังคับคดีแพ่ง คดีล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ การชำระบัญชี การวางทรัพย์และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีภายหลังคำพิพากษาเป็นกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง โดยดำเนินการตามขั้นตอนและตามกฎหมายให้ความเป็นธรรม โปร่งใส และอำนวยความสะดวกแก่คู่ความทุกฝ่ายในคดี รวมถึงประชาชนผู้รับบริการตามแผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ของกรมบังคับคดี 

             และกำหนดยุทธศาสตร์ การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีเป้าหมาย เพื่อการทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวมตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส พร้อมปรับตัว ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกระบวนการยุติธรรมเป็นไป เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและส่วนรวมของประเทศ


ผัดกะเพราอาหารจานผัดดีที่สุดในโลก


            คนไทยได้เฮ ผัดกะเพรา เมนูสิ้นคิดของไทยดังไกลทั่วโลกเว็บไซต์อาหาร เทสต์แอตลาส จัดอันดับอาหารจานผัดที่ดีที่สุดในโลกปรากฏว่าผัดกะเพราของไทยได้อันดับ 1 

           ถ้าจะบอกว่าผัดกะเพรา เป็นอาหารริมทางตามร้านอาหารตามสั่งที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยและเป็นอาหารจานเดียวของไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจานหนึ่งก็คงไม่ผิดอะไร จนบางครั้งมีการนิยามผัดกระเพราว่าเป็นเมนูสิ้นคิดเพราะเวลาเข้าไปในร้านอาหารนึกไม่ออกว่าจะกินอะไรก็สั่งผัดกะเพราราดข้าวมากินเพราะง่ายดี

          แต่วันนี้คงต้องบอกว่าผัดกะเพราของไทยเป็นอาหารที่โด่งดังไปทั่วโลกเพราะเว็บไซต์อาหาร เทสต์แอตลาส (TasteAtlas) ได้สำรวจและจัดอันดับอาหารจานผัดที่ดีที่สุดในโลก ปรากฏว่าผัดกะเพราของไทยได้อันดับ 1 แถมยังบอกว่าผัดกะเพราเป็นเมนูผัดดั้งเดิมของไทยที่นำเนื้อสัตว์ หรืออาหารทะเล มาผัดกับใบกะเพราวัตถุดิบต่างๆ ปรุงรสด้วยซีอิ๊วและอื่นๆ กินคู่กับข้าว ไข่ดาว และพริกน้ำปลา

          สำหรับกะเพราจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาโรคได้หลากหลาย และช่วยในการย่อยอาหาร ส่วนผัดกระเพราถือเป็นเมนูอาหารทีมีมาแต่โบราณ ปรับเปลี่ยนรสชาติและวัตุดิบเรื่อยมาตามยุคสมัยแต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือใบกะเพรา  

                                                                                                                  "ตะลอน" 

วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566

บิ๊กยุติธรรม"ทวี สอดส่อง"เข้าทำงานวันแรก

 

            บิ๊กยุติธรรม "ทวี สอดส่อง"รมว.ยุติธรรม เข้าทำงานวันแรก สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์  โดยมีข้าราชการกระทรวงยุติธรรมร่วมให้การต้อนรับและแสดงความยินดี

           วันที่ 14 กันยายน 2566 ช่วงเช้าที่ผ่านมา​ พันตำรวจเอก​ ทวี​ สอดส่อง​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม​ เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงยุติธรรม ศาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ศาลตายาย และพระพุทธยุติธรรมโลกนาถ​ เพื่อความเป็นสิริมงคล​ เนื่องในโอกาสเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอย่างเป็นทางการ

              โดยมี นางพงษ์สวาท​ นีละโยธิน​ ปลัดกระทรวงยุติธรรม​ นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโท​ ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม​ และคณะผู้บริหารส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม​ ให้การต้อนรับ​ และร่วมแสดงความยินดีในการดำรงตำแหน่งใหม่​ ณ​ อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

วันศุกร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566

รำลึก"สืบ นาคะเสถียร"สละชีวิตปกป้องผืนป่า

     


        วันที่​ 1 ก.ย.ของทุกปีถือเป็นวันที่ร่วมรำลึกการเสียสละชีวิตของ"สืบ นาคะเสถียร" อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ​นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย ซึ่งมีชื่อเสียงจาการพยายาปกป้อง"ป่าห้วยขาแข้ง" และ "ทุ่งใหญ่นเรศวร" จนเมื่อปีพ.ศ.​2533 ต้องฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ​ 

         การเสียชีวิตของ "สืบ นาคะเสถียร" ได้ปลูกจิตสํานึกของผู้คน ให้ตระหนักรู้และให้ความสำคัญของการอนุรักษ์มากขึ้น จนส่งผลให้ "ป่าห้วยขาแข้ง" และ "ทุ่งใหญ่นเรศวร" ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก เมื่อปี พ.ศ.​ 2534 ในที่สุด