วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2560

พัฒนาผลิตเมี่ยงปลอดภัย สร้างเศรษฐกิจชุมชน

          ช่วงที่มีโอกาสมา "ตะลอนตามอำเภอใจ" กับฝ่ายจัดการความรู้และสื่อสารสังคม ร่วมกับฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมป่าต้นน้ำ และการอนุรักษ์ป่าชาอัสสัม หรือชาเมี่ยง ที่ปลูกแซมป่าในพื้นที่ต.มะลิกา อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
            นอกจากผมจะได้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเก็บใบชาอัสสัมแล้ว ยังมีโอกาสเยี่ยมชมสถานประกอบการ "สุรีย์ ใบชาหมัก (เมี่ยง)" ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ต.มะลิกา อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ของ "แม่เลี้ยงปริก-สุรีย์ ยอดเมืองดี" โดยสกว.เข้ามาวิจัยและสนับสนุนโครงการ "การพัฒนากระบวนการผลิตเมี่ยงปลอดภัย" ซึ่งชาวบ้านเมื่อเก็บใบชาเสร็จในช่วงเช้าแล้วก็จะนำมาส่งให้สถานประกอบการแห่งนี้ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เมี่ยงหมักรสชาติต่างๆ และชา ออกไปขายยังจังหวัดต่างๆทางภาคเหนือ รวมถึงส่งไปขายที่ลาวและพม่าด้วย
 

       "แม่เลี้ยงปริก-สุรีย์ ยอดเมืองดี" บอกว่าสกว.ได้แนะนำปรับปรุงการผลิตเมี่ยงและอีกหลายๆอย่างภายในโรงงานให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้นให้ดูดีและสะอาด ซึ่งสมัยก่อนไม่มีใครมาแนะนำเราก็ทำกันแบบพื้นบ้านธรรมดาๆ และอยากขอบคุณทางสกว.และอาจารย์หลายๆท่านที่มาแนะนำให้ความรู้ต่างๆในการพัฒนาโรงงานการทำเมี่ยงให้ดียิ่งขึ้น เมื่อก่อนการกินเมี่ยงก็ใส่เกลือธรรมดามีแต่คนแก่กินกัน แต่ตอนนี้มีการพัฒนาสินค้าด้วยการนำมาแปรรูปหลายๆอย่าง อาทิ เอายอดมาทำชา หรือเมี่ยงชาขึ้นมา เมี่ยงสามรส หรือเมี่ยงหวาน ซึ่งคนไทยที่อยู่ต่างประเทศอย่างไต้หวันก็มาซื้อเมี่ยงของเราไปกินด้วย
              "ดร.สายลม สัมพันธ์เวชโสภา"  อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่รับทุนจากสกว.และเป็นหัวหน้าคณะการทำวิจัยในประเด็น "การพัฒนากระบวนการผลิตเมี่ยงปลอดภัย" บอกว่าหลังจากที่เข้ามาแนะนำก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของโรงงานอย่างชัดเจน ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานต่างจากเดิมที่พบเห็นมาก โครงสร้างอาคารที่เป็นสัดส่วน ห้องแปรรูปและผลิตเมี่ยงต่างจากเมื่อก่อนอย่างชัดเจน รวมถึงการพัฒนาหม้อ
ต้มเมี่ยงให้ได้มาตรฐานถูกหลักอนามัย และได้แนะนำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาเมี่ยงได้นานๆเวลาส่งไปขาย รวมถึงการออกแบบโลโก้ และตราสัญลักษณ์เพื่อส่งเสริมการขายอีกด้วย
ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ"  เมี่ยง หรือชาอัสสัม ถือเป็นพืชที่สามารถสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน และรักษาป่าต้นน้ำ สกว. เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้สนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่ออนุรักษ์ และส่งเสริมเกษตรกรที่ผลิตเมี่ยงให้สามารถผลิตเมี่ยงปลอดภัย ป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในเมี่ยง และการพัฒนาเป็นชาเมี่ยงแทนการเคี้ยว ถือเป็นทางเลือกสำคัญที่ให้ผู้บริโภคหันมาสนใจบริโภค "ชาเมี่ยง" มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างภูมิปัญญา และวิถีวัฒนธรรมชุมชน มีความรักความเอื้ออาทร  ความสามัคคี เสียสละ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองและผู้อื่น จึงเป็นการอัญเชิญปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนและการปลูกชาเมี่ยง ด้วยโครงการ "การพัฒนากระบวนการผลิตเมี่ยงปลอดภัย"....
                                                                             "นายตะลอน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น