วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2560

พัฒนาผลิตเมี่ยงปลอดภัย สร้างเศรษฐกิจชุมชน

          ช่วงที่มีโอกาสมา "ตะลอนตามอำเภอใจ" กับฝ่ายจัดการความรู้และสื่อสารสังคม ร่วมกับฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมป่าต้นน้ำ และการอนุรักษ์ป่าชาอัสสัม หรือชาเมี่ยง ที่ปลูกแซมป่าในพื้นที่ต.มะลิกา อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
            นอกจากผมจะได้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเก็บใบชาอัสสัมแล้ว ยังมีโอกาสเยี่ยมชมสถานประกอบการ "สุรีย์ ใบชาหมัก (เมี่ยง)" ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ต.มะลิกา อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ของ "แม่เลี้ยงปริก-สุรีย์ ยอดเมืองดี" โดยสกว.เข้ามาวิจัยและสนับสนุนโครงการ "การพัฒนากระบวนการผลิตเมี่ยงปลอดภัย" ซึ่งชาวบ้านเมื่อเก็บใบชาเสร็จในช่วงเช้าแล้วก็จะนำมาส่งให้สถานประกอบการแห่งนี้ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เมี่ยงหมักรสชาติต่างๆ และชา ออกไปขายยังจังหวัดต่างๆทางภาคเหนือ รวมถึงส่งไปขายที่ลาวและพม่าด้วย
 

       "แม่เลี้ยงปริก-สุรีย์ ยอดเมืองดี" บอกว่าสกว.ได้แนะนำปรับปรุงการผลิตเมี่ยงและอีกหลายๆอย่างภายในโรงงานให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้นให้ดูดีและสะอาด ซึ่งสมัยก่อนไม่มีใครมาแนะนำเราก็ทำกันแบบพื้นบ้านธรรมดาๆ และอยากขอบคุณทางสกว.และอาจารย์หลายๆท่านที่มาแนะนำให้ความรู้ต่างๆในการพัฒนาโรงงานการทำเมี่ยงให้ดียิ่งขึ้น เมื่อก่อนการกินเมี่ยงก็ใส่เกลือธรรมดามีแต่คนแก่กินกัน แต่ตอนนี้มีการพัฒนาสินค้าด้วยการนำมาแปรรูปหลายๆอย่าง อาทิ เอายอดมาทำชา หรือเมี่ยงชาขึ้นมา เมี่ยงสามรส หรือเมี่ยงหวาน ซึ่งคนไทยที่อยู่ต่างประเทศอย่างไต้หวันก็มาซื้อเมี่ยงของเราไปกินด้วย
              "ดร.สายลม สัมพันธ์เวชโสภา"  อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่รับทุนจากสกว.และเป็นหัวหน้าคณะการทำวิจัยในประเด็น "การพัฒนากระบวนการผลิตเมี่ยงปลอดภัย" บอกว่าหลังจากที่เข้ามาแนะนำก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของโรงงานอย่างชัดเจน ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานต่างจากเดิมที่พบเห็นมาก โครงสร้างอาคารที่เป็นสัดส่วน ห้องแปรรูปและผลิตเมี่ยงต่างจากเมื่อก่อนอย่างชัดเจน รวมถึงการพัฒนาหม้อ
ต้มเมี่ยงให้ได้มาตรฐานถูกหลักอนามัย และได้แนะนำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาเมี่ยงได้นานๆเวลาส่งไปขาย รวมถึงการออกแบบโลโก้ และตราสัญลักษณ์เพื่อส่งเสริมการขายอีกด้วย
ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ"  เมี่ยง หรือชาอัสสัม ถือเป็นพืชที่สามารถสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน และรักษาป่าต้นน้ำ สกว. เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้สนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่ออนุรักษ์ และส่งเสริมเกษตรกรที่ผลิตเมี่ยงให้สามารถผลิตเมี่ยงปลอดภัย ป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในเมี่ยง และการพัฒนาเป็นชาเมี่ยงแทนการเคี้ยว ถือเป็นทางเลือกสำคัญที่ให้ผู้บริโภคหันมาสนใจบริโภค "ชาเมี่ยง" มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างภูมิปัญญา และวิถีวัฒนธรรมชุมชน มีความรักความเอื้ออาทร  ความสามัคคี เสียสละ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองและผู้อื่น จึงเป็นการอัญเชิญปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนและการปลูกชาเมี่ยง ด้วยโครงการ "การพัฒนากระบวนการผลิตเมี่ยงปลอดภัย"....
                                                                             "นายตะลอน"

วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560

ชาเมี่ยงอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ สร้างรายได้คนท้องถิ่น


         ป็นยามเช้าที่ท้องฟ้าแจ่มใสระหว่างสองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยที่ขึ้นปกคลุมเขียวขจี ผมรู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อยระหว่างการเดินทางด้วยรถกระบะมา "ตะลอนตามอำเภอใจ" กับฝ่ายจัดการความรู้และสื่อสารสังคม ร่วมกับฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมป่าต้นน้ำ และการอนุรักษ์ป่าชาอัสสัม หรือชาเมี่ยง ที่ปลูกแซมป่าในพื้นที่ต.มะลิกา อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
ซึ่งฝ่ายเกษตรสกว.เล็งเห็นว่า "ชาอัสสัม" หรือชาวบ้านเรียกว่า "ชาเมี่ยง" เป็นพืชที่สามารถสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน และรักษาป่าต้นน้ำ จึงได้สนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวกับชาเมี่ยงมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบันได้สนับสนุนโครงการ "การพัฒนากระบวนการผลิตเมี่ยงปลอดภัย" เพื่ออนุรักษ์ และส่งเสริมเกษตรกรที่ผลิตเมี่ยงทั่วประเทศประมาณ 3,235 ครอบครัว
นอกจากนี้ การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลยั่งยืน ยังถือเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาล โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทุนของประเทศที่มีอยู่ ทั้งทุนทางสังคม ทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกับการพัฒนาเพื่อความสุขที่เกิดจาก ความสมดุล ความพอประมาณอย่างมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถพึ่งตนเองชุมชนสามารถบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากทุนต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมีดุลยภาพ

           หลังจากเดินทางด้วยรถกระบะเข้ามาในบริเวณป่าต้นน้ำระยะหนึ่งจากนั้นผมจึงเดินเท้าพร้อมคณะที่มาด้วยกันเข้าไปที่บริเวณป่าชาเมี่ยงภาพที่เห็นชาวบ้านกำลังเก็บใบชาเมี่ยงอย่างขะมักเขม้น เพื่อแข่งกับเวลาที่กำลังหมุนเร็ว เนื่องจากชาวบ้านจะเก็บใบชาเมี่ยงกันในช่วงเช้าๆประมาณเที่ยงๆก็จะเลิกและนำใบชาเมี่ยงไปขายที่โรงงานรับซื้อในพื้นที่อ.แม่อาย
"ดร.สายลม สัมพันธ์เวชโสภา"  อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่รับทุนจากสกว.และเป็นหัวหน้าคณะการทำวิจัยในประเด็น "การพัฒนากระบวนการผลิตเมี่ยงปลอดภัย" เพื่ออนุรักษ์ และส่งเสริมเกษตรกรที่ผลิตเมี่ยง" และร่วมเดินทางมาด้วยบอกว่า ใบชาที่ชาวบ้านกำลังเก็บอยู่ คือ "ชาอัสสัม" ที่นำไปทำ "เมี่ยง" เป็นอาหารท้องถิ่นภาคเหนือนานกว่า 100 ปี "เมี่ยง" เป็นภาษาคำเมืองในภาคเหนือหมายถึง "ใบชาหมัก"  และหากจะนำไปทำ "ชา" ชาวบ้านก็จะเก็บยอดอ่อนๆ แต่ถ้านำไปทำ "เมี่ยง" ก็จะเก็บใบที่แก่ขึ้นนิดนึงไม่ถึงกับ

แก่มาก ซึ่งข้อดีของต้นชาอัสสัม คือไม่ต้องดูแล ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ปล่อยตามธรรมชาติ ต้นชาเหล่านี้ก็สามารถเจริญงอกงามอยู่ได้ ที่สำคัญชาวบ้านที่เก็บใบชาจะใช้ใบมีดโกรนทำเป็นแหวนใส่นิ้วเพื่อง่ายต่อการทำงาน แล้วตัดใบชาครึ่งใบ หรือเก็บแค่ครึ่งใบ ไม่เก็บทั้งใบเพื่อให้ต้นชาสามารถเจริญงอกงามอยู่ต่อไปได้ และวันหน้าจะได้มีใบชาไว้ให้เก็บอีก
"การเก็บใบชาจะเก็บในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ชาวบ้านก็จะหยุดเก็บเพื่อให้ต้นชาหยุดพักพอเดือนพฤษาคมก็จะเริ่มเก็บใหม่โดยใบชาที่เก็บระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม จะเรียกว่าเมี่ยงหัวปลี เนื่องจากใบชาช่วงนี้จะอ่อนมาก ก็จะนำไปทำเมี่ยงฝาด" ดร.สายลม กล่าว
ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" "ชาอัสสัม" นอกจากเป็นทรัพยากรธรรมชาติในการอนุรักษ์ดินป่าต้นน้ำยับยั้งการพังทลายของดินที่สำคัญของภาคเหนือแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น ชาวบ้านในชุมชนมีงานทำ มีอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่สืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลานอีกด้วย...
                                             "นายตะลอน"
                                                                     
                                                                             

วันศุกร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560

ศรีลานนาโมเดลท่องเที่ยวยั่งยืน อุทยานประชารัฐร่วมมือรักษาป่า

            นับเป็นเวลานานกว่า 35 ปีที่ภาพยนต์ฟอร์มยักษ์ระดับโลกอย่าง "แรมโบ้ 4 นักรบพันธุ์เดือด"  ที่เริ่มฉายปี พ.ศ. 2551 ซึ่ง "ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน" แสดงนำและนั่งแท่นผู้กำกับการแสดงด้วย เชื่อว่าหลายคนที่ดูภาพยนต์เรื่องนี้แล้วคงต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "โคตรมัน" สำหรับ "คนคอหนังสงครามยิงถล่มกันสนั่นจอ" คงจะพอจำกันได้  ซึ่งส่วนใหญ่หนังเรื่องนี้ถ่ายทำในประเทศไทย บางฉากบางตอนก็ถ่ายทำที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อุทยานแห่งชาติศรีลานนา อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
           ผมมีโอกาสมา "ตะลอนตามอำเภอใจ" ดูภารกิจต่างๆของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ณ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา และมีหลายๆเรื่องที่น่าสนใจ อย่างเช่น การฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชันในเขตอุทยานฯ จนนำไปสู่ "ศรีลานนาโมเดล" ต้นแบบสร้างป่าและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเจ้าหน้าที่นำยุทธศาสตร์ด้านต่างๆบูรณาการลดความขัดแย้งกับชาวบ้านจนประสบความสำเร็จมาระดับหนึ่ง
"ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง" ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่ชาติ 
บอกว่า การท่องเที่ยวในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อนาคตอุทยานฯอาจต้องควบคุมจำนวนเรือและแพพัก รวมถึงกิจกรรมต่างๆที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆให้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้น้ำต่างๆที่ไหลลงสู่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลที่มีตะกอนอันเกิดจากการทำลายป่าเหนือเขื่อนขึ้นไปก็ต้องมีการฟื้นฟูปลูกป่าให้มีต้นไม้มากรองตะกอนจนกลายเป็นป่าที่สมบูรณ์และเขื่อนแห่งนี้ก็จะยั่งยืนในอนาคต
        "ศรีลานนาถือเป็นอุทยานประชารัฐซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ได้มีการร่วมมือกันรักษาป่า ร่วมกันจัดการการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และวันนี้สามารถเรียก "ศรีลานนาโมเดล" เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับที่อื่นได้เลย" ดร.ทรงธรรม กล่าว
 "เจตณรงค์ สมบูรณ์มา"  ผู้ประกอบการแพพักภูเขาลอยน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล บอกว่า
ทางแพพักมีระบบจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล โดยนำขยะใส่ถุงแล้วเอาไปทิ้งบนฝั่ง และทำบ่อทิ้งน้ำเสีย มีท่อดักจับไขมัน  ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ได้ใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่าแล้ว หลังจากนี้ผู้ประกอบการแพทุกรายจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และจะให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมไม่ให้เสื่อมโทรม โดยจะเน้นให้นักท่องเที่ยวช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งเศษขยะมูลฝอยลงในแหล่งน้ำมีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็บระบบ
               ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" "ยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา บอกว่าปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ เพื่อขยายพื้นที่ทำกินของชุมชนรุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่อุทยานฯ เป็นที่มาของปัญหาความขัดแย้งกับชาวบ้านเนื่องจากชาวบ้านไม่เข้าใจและไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา ทางอุทยานฯ จึงปรับแนวทางการดำเนินงานใหม่ โดยเน้นการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้น ส่วนการกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งทุกขั้นตอนจะทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับตัวแทนของชุมชน จนชาวบ้านยอมรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงนำไปสู่การคืนผืนป่าจำนวนมาก...
                            "นายตะลอน"