วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

นั่งรถไฟวงเวียนใหญ่ ย้อนความทรงจำเก่าๆ

     วามทรงจำเก่าๆที่ยังคงติดตราตรึงใจไม่รู้ลืม แม้จะล่วงเลยผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน แต่เราก็ยังคงเก็บความประทับใจไว้มิรู้ลืมจริงๆ ช่วงหนึ่งของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" ผมมีโอกาสแวะเวียนมาที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซึ่งคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเด็กๆก็เลยไม่พลาดที่จะนั่งรถไฟเล่นเพลินๆ ที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ตั้งอยู่ที่ถนนริมทางรถไฟ (วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู) ใกล้วงเวียนใหญ่ แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี เป็นสถานีต้นทางของทางรถไฟสายแม่กลอง ก็เลยตีตั๋วราคา 3 บาท ไปลงที่ป้ายวัดไทร ไว้มีเวลามากกว่านี้ก็คงต้องนั่งยาวๆไปลงสถานีมหาชัย แล้วค่อยมาต่อก็แล้วกันครับ
          สำหรับสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ตามข้อมูลระบุว่าเป็นสถานีรถไฟระดับ 3 เดิมเป็นสถานีต้นทางของรถไฟสายแม่กลองคือสถานีรถไฟปากคลองสาน แต่ไม่มีการเดินรถช่วงปากคลองสาน-วงเวียนใหญ่มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2504 สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502
ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยรางรถไฟยังคงอยู่ แต่ราดยางมะตอยทับไว้ใต้พื้นถนน
ช่วงที่ยืนรอรถไฟเทียบชานชาลา ผมค่อยๆนึกถึงบรรยากาศเก่าๆสมัยเด็กๆที่เคยผูกพันกับรถไฟสายนี้ ความทรงจำเก่าๆก็เริ่มชัดขึ้นในหัวทีละนิด นึกแล้วก็ขำๆสมัยตอนเรียนมัธยมต้นก็มีเรื่องตื่นเต้นขึ้นรถไฟจากสถานีวัดสิงห์มาลงที่สถานีวัดไทร ไม่ยอมตีตั๋วก่อนขึ้นรถไฟ สมัยนั้นเป็นตั๋วกระดาษแข็งๆสีน้ำตาลเข้ม สี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ พอได้ยินเสียงคนหนีบตั๋วเดินมา แป๊กๆๆๆ ผมกับเพื่อนๆก็จะเดินหนีไปตู้อื่นบางทีก็
รอด บางครั้งก็ไม่รอดก็ตีตั๋วบนรถเอาแก้ตัวกันไปชนิดน้ำขุ่นๆตีตั๋วไม่ทันรีบขึ้นรถอะไรประมาณนี้ นึกขึ้นมาทีไรก็อดขำๆไม่ได้ทุกที
บรรยากาศบริเวณชานชาลาสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ จากวันนั้นเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ดูแล้วมีการพัฒนาขึ้นมากมาย แต่ที่เป็นเสน่ห์และดูเหมือนว่ายังเหมือนเดิมคือร้านอาหารต่างๆที่ทำการค้าขายกัน มีอาหารคาวหวานให้เลือกซื้อกินอย่างหลากหลายจริงๆ มองไปฝั่งตรงข้ามชานชาลามีร้านตัดผมเก่าแก่ "ไพฑูรย์บาร์เบอร์" ที่ผม
เคยเห็นตั้งแต่เด็กๆยังคงเปิดบริการอยู่ แม้ไม่เคยใช้บริการตัดผมที่ร้านแห่งนี้ แต่ก็เป็นภาพที่ติดตาอยู่เหมือนกันเวลามารอขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่
ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" โหๆๆอะไรกันเนี่ยยังไม่ทันขึ้นรถไฟเลยจะจบเรื่องเขียนแล้วเหรอ เชื่อว่าคนที่อ่านถึงตรงนี้ก็คงคิดเหมือนกัน เพราะมีเสียงของเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟ เสียงใสๆของผู้หญิงได้ประกาศว่าอีกหนึ่งนาทีถ้าจำไม่ผิดนะจะมีรถเข้าเทียบชานชาลา พร้อมเตือนให้ผู้จะโดยสารออกห่างจากชานชาลา หลังจากรถไฟเข้าเทียบชานชาลาระหว่างนี้จะชุลมุนเล็กน้อยเพราะมีทั้งคนที่จะลงจากรถไฟและคนที่จะขึ้นรถไฟเพื่อไปจับจองที่นั่งกัน แต่เนื่องจากช่วงที่ผมขึ้นไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วนจึงมีที่นั่งริมหน้าต่างว่างๆอยู่หลายที่ ผมจึงนั่งชมวิวริมหน้าต่างได้อย่างเพลินใจมองบบรยากาศข้างทางขณะที่รถไฟวิ่งฉึกฉักๆๆอยู่เหมือนว่าเวลายังผ่านไปไม่นาน บ้านเรือนผู้คนบางหลังที่เคยเห็นสมัยเด็กๆก็ยังเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนี่ยละคือการท่องเที่ยวย้อนความทรงจำเก่าๆของผมเพื่อนึกถึงวันวานที่ผ่านมา...!!!
                             "นายตะลอน"

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เยือนชุมชนลีเล็ด ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

   
           นวันที่มีโอกาสมา "ตะลอนตามอำเภอใจ" ที่ชุมชนลีเล็ด ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สายลมพัดพาหอบเอากลิ่นไอของน้ำกร่อย ภายในคลองลัด ที่เป็นระบบนิเวศน้ำเค็มและน้ำจืดรวมกัน กลิ่นไอธรรมชาติได้ผ่านสายลมถึงจมูกผมจนสามารถสัมผัสถึงความเป็นธรรมชาติของลีเล็ดได้เป็นอย่างดี ตลอดสองข้างทางที่แล่นเรือยนต์ภายในคลองลัด เราได้เห็นบ้านเรือนของชาวบ้านที่ปลูกสร้างอยู่ริมน้ำ ซึ่งชาวบ้านส่วนหนึ่งมีอาชีพทำประมงพื้นบ้านกัน รวมถึงต้นไม้ใหญ่น้อยและป่าชายเลนอยู่เป็นระยะๆระหว่างเรือยนต์แล่นผ่านทำให้เพลิดเพลินและเกิดความผ่อนคลายกับสิ่งแวดล้อมที่ได้เห็นจริงๆ
   นอกจากนี้ การมาท่องเที่ยวที่ชุมชนลีเล็ด เรายังได้เห็นและสัมผัสกับป่ารุกทะเล ระบบนิเวศป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์อย่างมาก จนทำให้ชุมชนลีเล็ด กลายเป็นสถานที่หนึ่งที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จนทำให้นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติมาศึกษาดูงานกันมากมาย และผลจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ก็เกิดกุ้ง หอย ปู ปลาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านได้อย่างยั่งยืน
              สำหรับความพิเศษอย่างหนึ่งของป่ารุกทะเล ที่ได้เห็นคือผืนน้ำทะเลอันกว้างใหญ่ ล้อมรอบด้วยป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้หลากหลายชนิด อาทิ ลำพู โกงกาง แสม ลำพูหิน ตะบูน และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพร ก็มีเหงือกปลาหมอ ย่านขี้เดือน ปรงทะเล จาก ลำแพน หน่อเซียน ปอทะเล และพืชเล็กๆ เช่น ตะไคร่น้ำ ส่วนสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนที่ผมเห็นโลดแล่นอยู่บนยอดไม้ ก็มีลิงแสม นกกระยาง นกกะปูด รวมถึงงู ส่วนภายในดินโคลน จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ก็มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่มากมาย อาทิ ปลาตีน ปูทะเล ปูเปรี้ยว หอยจุ๊บแจง และหอยกัน และอื่นๆอีกมากมาย
        ผลพวงความสมบูรณ์ของป่าชายเลนลีเล็ดที่เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด แมกไม้ชายฝั่ง ที่ชาวบ้านช่วยกันปลูกเพิ่มทั้งโกงกาง แสม ลำพู ไม่เพียงป้องกันแรงลมเท่านั้น แต่ยังเป็นที่พักพิงของหิ่งห้อยมากมาย ซึ่งหากนักท่องเที่ยวมาเยือนก็สามารถเดินชมหิ่งห้อย ที่มีเป็นจำนวนมากในยามค่ำคืนที่ส่องแสงระยิบระยับตามต้นลำพู ต้นโกงกางที่สวยงามมาก และเนื่องจากลำคลองนับร้อยสายที่ไหลมาบรรจบพบกันจนเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติของระบบนิเวศน์ได้อย่างสมบูรณ์ บวกกับความหลากหลายทางชีวภาพ จึงกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิดจำนวนมาก เพราะป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าไปเที่ยวกันไม่ขาดสายอีกด้วย
         ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" ความสมบูรณ์ของป่าชายเลนลีเล็ด ที่เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของชุมชนลีเล็ดแล้ว บริเวณอ่าวบ้านดอน หรือทะเลอ่าวพุนพิน แถบนี้ถือว่ามีฟาร์มหอยแครงแหล่งกำเนิดหอยแครงที่อุดมสมบูรณ์สัตว์น้ำในแถบนี้ และถือเป็นไฮไลท์หนึ่งที่หากใครได้มาเยือนที่ชุมชนลีเล็ดแห่งนี้จริงๆ...!!!                                                                                
                                                                                  "นายตะลอน"

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เยือนเกาะลันตาครั้งนั้น รอยยิ้มที่โรงเรียนฝึกลิง

              ถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของไทยที่ดังในระดับโลกนั้น "เกาะลันตา" อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ถือเป็นสถานที่หนึ่งที่ผมเอ่ยถึง เพราะถูกขนานนามว่าเป็น "เกาะอัญมณีแห่งเอเชีย" ที่สำคัญอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนเกาะลันตาใหญ่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงอันดับต้นๆ ก็ว่าได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวในประเทศแถบยุโรป และสแกนดิเนเวียยังนิยมมาท่องเที่ยวและพักผ่อนยังเกาะลันตาใหญ่อีกด้วย
           ช่วงที่ผมมีโอกาสมา "ตะลอนตามอำเภอใจ" เยือนสถานที่แห่งนี้  "เกาะลันตา" นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนทั่วโลกให้ความสนใจแล้ว บนเกาะแห่งนี้ยังมีชุมชนท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอย่างบ้านทุ่งหยีเพ็ง หมู่ที่ 4 ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา เพราะนอกจากจะมีธรรมชาติ ต้นไม้นานาพันธุ์ สัตว์น้ำมากมาย ทั้งปู ปลา รวมถึงหอยตาแดง และหอยแครง ฯลฯ มากมายแล้ว บ้านทุ่งหยีเพ็งยังเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของ ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ อีกด้วย ที่สำคัญวิถีชีวิตของคนในชุมชนยังมีความรักความสามัคคี เอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยชาวชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็งได้รวมตัวกันพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิมที่เกาะลันตานับถือศาสนาอิสลาม อาชีพหลัก คือ การทำประมงพื้นบ้าน ทำสวนยางพารา และมีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นรายได้เสริม
โดยภาครัฐส่งเสริมให้มีศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวชุมชนและเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำโครงการขยายผลศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้กับบ้านทุ่งหยีเพ็ง และส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ วัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน และส่งเสริมกิจกรรมของหมู่บ้านและบทบาทของฝ่ายปกครองยังได้ส่งเสริมสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หรือโอทอปของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งหยีเพ็งร่วมใจอีกด้วยครับ
          สำหรับโรงเรียนฝึกลิง หรือ monky school ต.ศาลาด่าน 
อ.เกาะลันตา เป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งสร้างสีสันและดึงดูดนักท่องเที่ยวพอสมควร เนื่องจากเจ้าของลิงได้รับการถ่ายทอดความรู้การฝึกลิงกังเก็บมะพร้าวมาจากพ่อของตัวเอง ต่อมาก็เลยหันมาฝึกลิงให้แสดงโชว์ เนื่องจากสร้างรายได้ดีกว่า อีกทั้งยังได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แวะเวียนมาดูการแสดงของลิงอย่างมาก อาจจะเป็นเพราะความน่ารัก ความซุกซนของบรรดาลิงที่นี่ จึงทำให้นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเกิดรอยยิ้ม สร้างเสียงหัวเราะ เกิดความผ่อนคลายที่ได้เห็นการสอนการแสดงให้กับลิง สอนมารยาทลิง สอนให้ลิงเล่นบาสเก็ตบอล ปั่นจักรยาน และอื่นๆ อีกหลายอย่าง โรงเรียนฝึกลิงแห่งนี้จึงเป็นสถานที่หนึ่งที่สร้างเสน่ห์ส่งเสริมเสริมการท่องเที่ยวบนเกาะลันตาได้อย่างลงตัวทีเดียว
ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" หากใครได้มาเยือนเกาะลันตา อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือการปลูกหญ้าทะเลบริเวณอ่าวลันตา เพื่อให้เป็นอาหารสำหรับปลาพะยูน และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเล็กๆ อย่างกุ้ง หอย ปู ปลาต่างๆ นอกจากนี้ กิจกรรมการปลูกหญ้าทะเล ก็ยังเป็นโปรแกรมหนึ่งของการท่องเที่ยวชุมชนที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสและลงมือปลูกหญ้าทะเลด้วยตนเอง เป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดีๆ ส่วนผมเองก็ยังมีโอกาสเอากล้องไล่ถ่ายรูปบรรดาปูตัวเล็กๆ หลากสีสันที่มีอยู่ชุกชุมบริเวณนี้ ทำให้เพลิดเพลินจริงๆ
                                                                           
                                                                  "นายตะลอน" 

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ยลท้องฟ้าทะเลกว้าง หาดสำราญเมืองตรัง

              ครที่เคยมาเยือน ต.หาดสำราญ จ.ตรัง เชื่อว่าหลายคนคงเก็บความประทับใจแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของที่นี่กลับบ้านมาไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะมี "หาดสำราญ" ซึ่งเป็นหาดทรายชายฝั่งที่สวยงาม และมีที่ดูนกทะเลได้ตลอดทั้งปี เหมาะสำหรับเป็นที่ตากอากาศแล้ว นักท่องเที่ยวยังนิยมมากินอาหารทะเลสดๆ รวมถึงได้ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านอีกด้วยนะ
           นอกจากนี้ ความร่วมแรงร่วมใจในการสืบทอดประเพณีชักพระทางน้ำข้ามทะเล หนึ่งเดียวในประเทศไทยของชาว ต.หาดสำราญ ที่สืบทอดมายาวนานกว่า 100 ปี โดยชุมชนหาดสำราญ และชุมชนบ้านปากปรนจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งมีเรือพาย และเรือของชาวบ้านมาร่วมขบวน เพื่อล่องไปในทะเลเป็นระยะทางกว่า 10 ไมล์ทะเล และชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์สู่โลก
มนุษย์ หลังเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดุสิตตลอดพรรษา
โดยทั่วไปพุทธศาสนิกชนจะเดินทางไปร่วมงานประเพณีชักเรือพระทางบก แต่เนื่องจากชาวบ้านในบริเวณนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำปากปรน และอยู่ใกล้ทะเลอันดามัน รวมทั้งยังประกอบอาชีพประมง ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปร่วมประเพณีลากเรือพระทางบก จึงได้กำหนดให้วันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ที่ว่างเว้นจากการทำประมงมาร่วมกัน

สืบสานประเพณีชักพระทางน้ำ จึงเป็นประเพณีหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นเอกลักษณ์ของ ต.หาดสำราญ ที่ชาวบ้านถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคนแล้ว
แน่นอนว่าครั้งหนึ่งของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" ผมเองก็เคยมาเยือน ต.หาดสำราญ และมีโอกาสได้มาชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้าน บ้านปากปรนต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง และเนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมง จึงมีการรวมกลุ่มสมาชิกเพื่อขายผลผลิตและจัดหาทุนมาบริหารจัดการ และนำผลผลิตสัตว์น้ำมาแปรรูปเป็นกุ้งแห้ง, ปลาเค็มแห้ง และกะปิ เป็นต้น
จากข้อมูลพบว่าแต่เดิม ต.หาดสำราญเ เป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับ อ.ปะเหลียน ต่อมาในปี 2537 ได้แยกการปกครองมาเป็น 1 ใน 3 ตำบลของกิ่งอำเภอหาดสำราญ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลูกคลื่นริมฝั่งทะเล ลักษณะดินเป็นดินลึก เนื้อดินปานกลางจนถึงดินทรายจัด มีป่าชายเลน เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 76 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 47,500ไร่
แบ่งเขตการปกครองเป็น 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านปากปรนตก หมู่ 2 บ้านปากปรนออก หมู่ 3 บ้านหนองสมาน หมู่ 4 บ้านบกหัก หมู่ 5 บ้านแหลมปอ หมู่ 6 บ้านโคกวา หมู่ 7 บ้านท่าโตบ หมู่ 8 บ้านโคกออก หมู่ 9 บ้านควนล้อน หมู่ 10 บ้านโคกค่าย ชาวบ้านส่วนใหญ่พูดภาษาไทยปักษ์ใต้ นับถือศาสนาพุทธประมาณ 80 %
ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" ส่วนคนที่ชอบท่องทะเล หากมีโอกาสได้นั่งเรือยนต์ออกไปกลางทะเล ชมท้องฟ้าและทะเลกว้าง ฟังเสียงเครื่องยนต์เรือไปเพลินๆ สลับกับการดูวิถีชาวบ้านออกหาปลาในทะเล ผมเชื่อเหลือเกินว่ามันอาจทำให้สมองของคุณโล่งบ้างไม่มากก็น้อย เพราะเราสามารถปลดปล่อยเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในหัวเราทิ้งลงทะเลเสียในคราวเดียวกัน ถึงเวลาหยุดพักสมองกันบ้าง มันเป็นการชาร์จแบตให้กับร่างกายของเราอย่างดีทีเดียวก็ว่าได้...!!!
                                 "นายตะลอน" 

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เสน่ห์ตลาดน้อย อดีตชุมชนรุ่งเรือง

           นวันชิวๆ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสมา "ตะลอนตามอำเภอใจ" เดินเล่นตามตรอก ซอก ซอย ย่านชุมชนตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ถือว่าได้เปิดหู เปิดตาพอสมควร เพราะที่นี่เป็นย่านชุมชนจีนโบราณ ในอดีตตลาดน้อยเป็นย่านการค้าที่ติดท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นชุมชนเก่าแก่รุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีชาวโปรตุเกสเข้ามาเป็นผู้อาศัยเป็นกลุ่มแรกๆ และมีชาวจีนขนสินค้ามาขายที่ท่าเรือฯ จากนั้นก็มีชาวญวน เขมร มาปักหลักอาศัย ในอดีตย่านนี้จึงเป็นย่านการค้าที่สำคัญ ที่คนหลายเชื้อชาติมาอาศัยอยู่รวมกันจวบจนปัจจุบัน
    ส่วนจุดเด่นของการเดินทอดน่องท่องเที่ยวย่านชุมชนตลาดน้อย ก็คงจะหนีไม่พ้นการเดินชมตึกแถวเก่าๆ อาคารเก่าแก่ สถาปัตยกรรมจากยุคที่แตกต่างกัน ยังคงอนุรักษ์ไว้จำนวนมากมาย และกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนไม่ขาดสาย อาทิ โบสถ์กาลหว่าร์ ศาสนสถานของ
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก อาคารกรมเจ้าท่า และธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย ตัวอาคารธนาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบโบซาร์ผสมนีโอคลาสสิก โดยก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2451ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันก็ยังคงเปิดให้บริการอยู่ ซึ่งอาคารแห่งนี้เคยได้รับรางวัลอนุรักษ์ทางสถาปัตยกรรมอีกด้วย แถมยังมีร้านขายอาหารของกินที่มีชื่อเสียงมากมายที่ดึงดูดผู้คนและนักท่องเที่ยวให้มาลิ้มรส
อาทิ ขนมกุยช่ายตลาดน้อย หรือเป็ดตุ๋นกรมเจ้าท่า และร้านของกินต่างๆ อีกมากที่ซ่อนตัวอยู่ตามซอก ซอย ในชุมชนตลาดน้อยแห่งนี้
ในขณะที่เดินไปตามถนนเล็กๆ เราจะเห็นตึกแถวเก่าๆ โรงกลึง แหล่งซื้อขายอะไหล่เครื่องยนต์เก่าอยู่หนาตาพอสมควร ซึ่งมีการบอกเล่าว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นว่าจ้างให้ช่างตีเหล็กของที่นี่ทำชิ้นส่วนเครื่องเรือให้ จนกลายเป็นแหล่งซื้อขายอะไหล่เครื่องยนต์เก่าแห่งแรกของกรุงเทพฯ ก็ว่าได้ นอกจากนี้ ชาวชุมชนตลาดน้อยยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมและกิจกรรมต่างๆ อาทิ เทศกาลกินเจ พิธีกรรมต่างๆ ที่ยังคงปฏิบัติกันโดยทั่วไป ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ หากมองผ่านๆ เหมือนไม่มีอะไรมากไปกว่าตึกโทรมๆ จึงต้องค้นหาเสน่ห์ที่หลากหลายซึมซับถึงอรรถรสอันแท้จริงของชุมชนแห่งนี้ และเป็นสถานที่หนึ่งซึ่งดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเยือนอย่างไม่ขาดสาย
ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" การได้มาเดินทอดน่องที่ชุมชนตลาดน้อยของผมนั้น สิ่งหนึ่งที่ดูแล้วเพลินตา คงจะหนีไม่พ้นงานศิลปะแนว
สตรีทอาร์ทที่ซ่อนตัวอยู่ตามกำแพงตึกเก่าๆ และเข้ากันอย่างลงตัวในรูปแบบของถนนศิลปะ จึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ ที่งานศิลปะอย่างสตรีทอาร์ทและกราฟฟิตี้เข้ามามีบทบาทสร้างสีสันดึงดูดผู้คนและนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบงานศิลปะแนวนี้ให้เข้ามาชื่นชมงานศิลปะดังกล่าวอย่างไม่ขาดสาย และแน่นอนว่าเมื่อผมมีโอกาสมาเยือนที่ชุมชนแห่งนี้ ก็คงไม่พลาดถ่ายรูปเป็นที่ระลึกนิดนึงนะ ส่วนคราวหน้าถ้ามีโอกาสมาเยือนที่นี่อีก ก็คงจะไปดู

มุมอื่นๆ อีกก็แล้วกัน...!!!
                               "นายตะลอน"