"ตะลอนตามอำเภอใจ"-วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันระหว่างไทยและลาว ท่ามกลางความสัมพันธ์อันดีของประชาชนทั้งสองประเทศ จึงก่อเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของมิตรภาพที่แน่นแฟ้น
ซึ่งภายหลังจากมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ที่จ.มุกดาหาร เชื่อมต่อกับแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว จึงมีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและลาวสามารถท่องเที่ยวได้มากขึ้น ภายใน 1 วันก็สามารถท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเทศได้อย่างอิ่มเอมทีเดียวครับ
"แขวงสะหวันนะเขต" เป็นหนึ่งในแขวงของประเทศลาว ตั้งอยู่ตอนกลางค่อนไปทางใต้ของประเทศ ทิศตะวันออกติดกับประเทศเวียดนาม ส่วนทิศตะวันตกติดกับประเทศไทย ทิศเหนือติดกับแขวงคำม่วน ประเทศลาว และทิศใต้ติดกับแขวงสาระวัน ประเทศลาว เช่นกัน ซึ่งเป็นแขวงที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากแขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
สำหรับ "แขวงสะหวันนะเขต" มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยขอมเรืองอำนาจ "แขวงสะหวันนะเขต" มีชื่อว่า "สุวรรณภูมิประเทศ" เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ในปี พ.ศ.2120 "ท้าวหลวง" และ "นางสิม" ได้อพยพผู้คนจากภาคเหนือลงมาตั้งหมู่บ้านชื่อว่า "บ้านหลวงโพนสิม" ห่างจากตัวเมือง "แขวงสะหวันนะเขต" ในปัจจุบันประมาณ 18 กิโลเมตร เส้นทางเดียวกับที่จะไป "พระธาตุอิงฮัง"
โดยทุกๆ ปีชาวลาวจะมีงานนมัสการ "พระธาตุอิงฮัง" เป็นงานบุญยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับที่ชาวไทยจัดงานประเพณีนมัสการ "พระธาตุพนม" และงานประเพณีทั้งสองแห่งจะมีขบวนแห่เทียน และการฟ้อนรำถวายองค์พระธาตุเช่นเดียวกัน แต่งาน "พระธาตุอิงฮัง" จะจัดขึ้นช่วงเดือนธันวาคม ส่วน "พระธาตุพนม" จะจัดขึ้นในช่วงวันเพ็ญเดือนสาม เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
สำหรับองค์ "พระธาตุอิงฮัง" ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีความสูง 25 เมตร ตัวประตูทางเข้าทั้งสี่ด้าน มีภาพแกะสลักแนวกามาวิจิตของฮินดู
เข้าไป รอบผนังกำแพงวัดด้านในสร้างเป็นศาลาเดินวนรอบวัด มีพระปางเงินจำนวน 160 องค์ เป็นฝีมือการหล่อของพุทธศาสนิกชน สองชาติ คือช่างคนไทย และคนลาว
ซึ่งตามประวัติของ "พระธาตุอิงฮัง" สร้างขึ้นโดย "พระเจ้าสุมินทราช" ใน "สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร" ประมาณ พ.ศ.400 คำว่า "อิงฮัง" มาจากคำว่า "พิงรัง" หรือ "พิงต้นรัง" และตามตำนาน "พระธาตุพนม" ในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล "พระพุทธเจ้า" พร้อมทั้งพระอานนท์ได้เสด็จมาที่พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือ จ.นครพนม ปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์ "เมืองรุกขนคร" หรือ "นครพนม" และได้ประทับพักแรมที่ "ภูกำพร้า" หนึ่งคืน
รุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขงไปบิณฑบาตที่ "เมืองศรีโคตรบูร" พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง แล้วกลับมาทำภัทกิจ หรือฉันอาหาร ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ "ภูกำพร้า" ที่กล่าวถึงปัจจุบันก็คือที่ตั้งของ "พระธาตุพนม" ตรงตำแหน่งที่ต้นรังที่ "พระพุทธเจ้า" ได้ทรงเสด็จพักรับบาตรที่ "เมืองศรีโคตรบูร" นั้น ต่อมาได้มีการสร้างเป็น "ธาตุกู่" ใน "สมัยพระเจ้าสุมิตราช" ภายหลังได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกสันหลังมาประดิษฐานไว้ใน "กู่ธาตุ" หรือ "พระธาตุอิงฮัง"
ที่สำคัญ สิ่งที่นักท่องเที่ยวควรรู้ คือ เนื่องจากภายใน "พระธาตุอิงฮัง" มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่บริเวณฐานเจดีย์ จึงห้ามสตรีเข้าเขตด้านใน และต้องนุ่งผ้าซิ่นทุกครั้งที่เข้านมัสการ แต่ก็ไม่ต้องกังวลสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะบริเวณหน้าประตูทางเข้ามีผ้าซิ่นให้เช่าอยู่แล้ว ถือเป็นประเพณีอันดีงามของชาวลาวที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" หลังจากนมัสการ "พระธาตุอิงฮัง" แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว เสร็จสรรพ ข้ามกลับมายัง จ.มุกดาหาร ประเทศไทย ก็มีโอกาสสแวะเวียนกินข้าว ที่สวนอาหาร "พ่อทอนปลาเผา" ตั้งอยู่ริมโขง ถนนสำราญชายโขงเหนือ อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร ตรงข้ามกับโรงเรียนบ้านนาโปน้อย บรรยากาศเย็นสบาย ร่มรื่น อาหารส่วนใหญ่ขึ้นชื่อเรื่องเมนูปลาแม่น้ำโขงหลากหลายชนิด รสจัดจ้าน บริการเป็นกันเอง หากมีโอกาสผ่านมาย่านนี้ก็ลองแวะเวียนกันดู...วันนี้ลากันไปก่อนเด้อ...!!!
นวย เมืองธน
******************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น