"อำเภอไชยปราการ" ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีปรากฎว่า พระเจ้าพรหมกุมารได้มาตั้งเมืองไชยปราการ (ทางด้านทิศตะวันออกของลำน้ำฝาง) เมื่อ พ.ศ.1661 และเมืองไชยปราการนี้เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาไทยมาสมัยหนึ่ง ต่อมาอารยธรรมแถบนี้ เริ่มคลายตัวลงประมาณ 1839 เมื่อพญามังรายได้ย้ายศูนย์กลางจากเมืองเชียงราย ไปทางทิศใต้ และสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงขึ้นใหม่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง
"เมืองไชยปราการ" เป็นเมืองที่แฝงไว้ด้วยความงดงามอันบริสุทธิ์ของธรรมชาติมากมายและยังเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีผลิตผลทางด้านเกษตรกรรมที่เชิดหน้าชูตาหลากหลาย ได้แก่ ลิ้นจี่กระเทียม โคนม ฯลฯ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้เห็นความสำคัญในข้อนี้ อีกทั้งเห็นว่าสภาพท้องที่โดยทั่วไปเชื่อว่าจะมีความเจริญมากขึ้น และจะสามารถขยายตัวยิ่งขึ้นต่อไปในภายหน้า เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครอง และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงได้ประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอไชยปราการ โดยแยกมาจากอำเภอฝาง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2530 และยกฐานะเป็นอำเภอไชยปราการ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2537
"วัดถ้ำตับเตา" ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ถือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ทางพุทธศาสนาสำคัญแห่งหนึ่งของชาวอำเภอไชยปราการ ซึ่งผมมีโอกาสมาสักการะพระเจ้าตนหลวงและพระนอน หรือ พระพุทธรูปไสยาสน์องค์ใหญ่ ขนาดความยาวไม่น้อยกว่า 9 เมตร สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูนพอกด้วยยางไม้ลงรักปิดทองในแบบศิลปะอยุธยา สัณนิฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ คราวที่พระองค์ยกกองทัพหน้าเพื่อจะเข้าตีพม่า และตีเมืองตองอู ประมาณปี พ.ศ.2135 และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกกองทัพหลวงไปทางเชียงดาวเข้าพักที่เมืองหาง ขณะนั้นเป็นเมืองในราชอาณาจักรไทย
"วัดถ้ำตับเตา" เป็นวัดร้างมาหลายครั้ง เนื่องจากเกิดภัยสงคราม จนกระทั่งมาถึงยุครัตนโกสินทร์ ตอนต้น จึงได้มีการบูรณะสร้างใหม่ขึ้นอีกครั้งในสมัยเจ้าหลวงมหาวงศ์ เจ้าหลวงเมืองฝาง คนที่ 2 ยุคเมืองฝางครั้งล่าสุดนี้ประมาณปี พ.ศ.2434-2435 ก่อนที่เจ้าหลวงมหาวงศ์ จะสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์สร้าง "วัดถ้ำตับเตา" ขึ้น
ฝรั่งชาวนอรเวย์ คนหนึ่งได้มาสำรวจธรรมชาติในล้านนาไทย และเข้ามาพักที่เมืองฝาง สมัยเจ้าหลวงสุริโยยศ ได้บันทึกถึงความสำคัญของสถานที่นี้ไว้ว่า "ถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนามากกว่าร้อยปีขึ้นไป มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระนอน ก่อด้วยอิฐโบกปูนทาด้วยยางไม้และปิดทองชำรุดทรุดโทรมมาก ยางไม้และทองหลุดร่อนลง"
ในอดีต "วัดถ้ำตับเตา" นอกจากจะเป็นสถานที่สำคัญของพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นสถานที่ซึ่งเวลาเจ้าเมืองเดินทางมาปกครองที่เมืองฝาง หรือเดินทางไปราชการยังเมืองเชียงใหม่ ต้องเดินทางผ่านมาเส้นทางนี้ และต้องหยุดพักสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำอยู่เสมอ แต่สำหรับผมแล้วการได้มาที่วัดแห่งนี้มันทำให้จิตใจอิ่มบุญพอสมควร
ส่วน "ถ้ำมืด" อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตก มีลานหินแคบๆ เป็นทางเดินจากหน้า "ถ้ำแจ้ง" ไปยัง "ถ้ำมืด" ได้ "ถ้ำมืด" มีลักษณะเป็นโพรงซอนลึกเข้าไปในภูเขา ภายในมีหินงอก หินย้อยสองข้างทางสวยงามมาก และมีความลึกเข้าไปประมาณ 500 เมตร ก้นถ้ำมีเจดีย์เปียก
นอกจากนี้ "วัดถ้ำตับเตา" ในอดีตมีการเล่าต่อกันมาเป็นทอดๆว่า ได้พบงูประหลาดในถ้ำ ซึ่งนักวิชาการด้านงู ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นงูพันธุ์ใด ชาวบ้านจึงมีความเชื่อ ว่าเป็นลูกหลานของพญานาค ที่สำคัญวภายในวัดฯ ยังร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ อายุราวกว่า 100 ปี ที่ปลูกอยู่บนเนื้อที่ของตัววัดฯโดยรอบและยังรวมถึงลำธารที่ไหลผ่านกลางวัด สร้างความร่มรื่นเย็นสบายให้แก่ผู้มาเยือนอีกด้วยครับ
"ตะลอนตามอำเภอใจ " ในช่วงสุดท้ายนี้ ผมคงต้องแนะนำว่า หากใครมีโอกาสผ่านมาที่อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าพอมีเวลาก็ลองแวะมาท่องเที่ยวที่ "วัดถ้ำตับเตา" เพื่อสักการะ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาอันสำคัญของชาวอำเภอไชยปราการ ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่สมัยพระนเรศวรมหาราช หรือจะเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งในตำนาน"นเรศวร" ก็ว่าได้เพราะมีการเล่าขานสืบต่อกันมา เชื่อเหลือเกินว่าหากได้ที่ "วัดถ้ำตับเตา" แห่งนี้ นอกจากจะได้เปิดหูเปิดตากับสิ่งต่างๆมากมายภายในวัดแห่งนี้แล้ว ยังได้อิ่มบุญกลับบ้านอีกด้วย....!!!
นวย เมืองธน
******************************************************
ลองเข้าไปสำรวจถ้ำมืดยัง มีไฟเข้าถ้ำด้วยไม่ต้องมีไกด์ไม่เก็บค่าน้ำทาง
ตอบลบแค่เราทำบุญค่าไฟฟ้าเข้าถ้ำให้ทางวัด ไม่มีพานิชมากมายยังใส ๆๆ อยู่
เจ้าสุริโยยศ ไม่ใช่เจ้าหลวงเมืองฝาง คนที่1 เจ้าหลวงเมืองฝางมีเพียงคนเดียว สมัยที่เจ้าหลวงเมืองฝางครองเมืองฝาง เจ้าสุริโยยศเป็นญาติ เป็นผู้ที่เดินทางมาเตรียมความพร้อมก่อนที่เจ้าหลวงเมืองฝางจะเสด็จมาครองเมืองฝาง และมีหน้าที่ดูแลหัวเมืองทางใต้ ด่านที่ถำตับเตาเป็นด่านที่มีมานานแล้ว
ตอบลบ