วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566

"ยุติธรรม" ตั้งโต๊ะช่วยเหลือแรงงานไทยจากอิสราเอล

             "ยุติธรรม" ตั้งโต๊ะช่วยเหลือแรงงานไทยจากอิสราเอล กรมคุ้มครองสิทธิฯจับมือกรมบังคับคดีให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน

           จากกรณี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมต้อนรับแรงงานไทยที่มาจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ณ โรงแรม SC Park กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 และมีความห่วงใยต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ จึงได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี ร่วมตั้งโต๊ะกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การช่วยเหลือตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานนั้น

              ล่าสุดนายธีรยุทธ แก้วสิงห์  โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและกรมบังคับคดี จะช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาหนี้สินของแรงงาน เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ รวมถึงให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย และรับเรื่องราวร้องทุกข์  โดย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มอบหมายให้ เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดี  ตั้งจุดบริการเพื่อให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนแก่แรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอล 

           ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีแรงงานไทยจำนวน 377 ราย จากอิสราเอลเดินทางกลับประเทศไทย ได้รับคำปรึกษาจากกระทรวงยุติธรรม และพบว่ามีแรงงานไทยจากอิสราเอล จำนวน 49 ราย มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือจากภาระหนี้สินกับ ธกส.  สถาบันการเงิน (ลิซซิ่ง) รายละประมาณ 40,000 - 200,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้คำปรึกษากฎหมาย แนะนำและประชาสัมพันธ์ให้ใช้บริการได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งในการติดต่อประสานงานกับเจ้าหนี้ เพื่อขอไกล่เกลี่ยหนี้สินหรือการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินด้วย

            นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า กระทรวงยุติธรรมจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่มาจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลในทุกเที่ยวบินต่อไป และหากแรงงานที่เดินทางกลับมา มีความประสงค์ขอรับบริการเพิ่มเติม สามารถติดต่อสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อที่สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง


วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2566

รมว.ยุติธรรมควงกรมคุ้มครองสิทธิ มอบเงินเยียวยาเหยื่อพลุระเบิดมูโนะ


             รมว.ยุติธรรมลงพื้นที่นราธิวาสพบปะประชาชนถกหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชายแดนใต้ ควงกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อโกดังพลุระเบิดตำบลมูโนะ

            ที่โรงเรียนบ้านมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส วันที่ 14 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา ภายใต้กิจกรรม คุ้มครองคน คุ้มครองสิทธิ : เพื่อสร้างวิถีชีวิตแห่งความเป็นธรรม พื้นที่นราธิวาส โดยมี นายปรีชา นวลน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม โดย นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นางพงษ์สวาท นีละโยธิน  ปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา  และนายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน  

             ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ กรณีโกดังพลุระเบิดในบริเวณบ้านมูโนะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 11 ราย และผู้บาดเจ็บ จำนวน 345 ราย รวมทั้งสิ้น 356 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,041,888 บาท ซึ่งในรายผู้เสียชีวิต ท่านนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 มอบเงินให้ความช่วยเหลือแล้ว 9 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงอีก 2 ราย 

           โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยารายบาดเจ็บ จำนวน 345 ราย รวมเป็นเงิน 2,241,888 บาท นอกจากนั้น ยังได้เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมเข้าพบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ณ โรงเรียนสอนศาสนาตาดีกาดารุลฮูดา หมู่ตำบลกาวะ อำเภอสุไหงปาดีจังหวัดนราธิวาส โดยมี ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนจำนวน 200 คน ให้การต้อนรับ

         สำหรับ "พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2559)" ได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาบุคคล 2 กลุ่มได้แก่

         1. ผู้เสียหายในคดีอาญา ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นหรือที่เรียกว่า“เหยื่ออาชญากรรม” 

          2. จำเลยในคดีอาญา ที่ถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำความผิดอาญา และถูกจำคุกในระหว่างพิจารณาคดี ต่อมาได้มีการถอนฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องว่าจำเลยไม่มีความผิดหรือที่เรียกว่า “แพะ” 

           ด้วยเหตุนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จึงได้ดำเนินการลงพื้นที่มอบเงินช่วยเหลือเยียวยา กรณีโกดังพลุระเบิดในบริเวณบ้านมูโนะ จังหวัดนราธิวาส ภายใต้กิจกรรม “คุ้มครองคน คุ้มครองสิทธิ : เพื่อสร้างวิถีชีวิตแห่งความเป็นธรรม ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พื้นที่จังหวัดนราธิวาส” ขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ออกไปอย่างกว้างขวาง และให้ประชาชนได้ทราบถึงสิทธิตามกฎหมาย และยังเป็นการชี้แนะช่องทางการให้บริการภารกิจคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของกระทรวงยุติธรรม ผ่านสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้มีการกระจายอำนาจการพิจารณาให้ความช่วยเหลือไปทั้ง 76 จังหวัดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม 



วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ยุติธรรมเยียวยาผู้เสียหายคดีอาญา 45 ล้านบาท

 

           กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญาทั่วประเทศ จากงบกลาง (เร่งด่วน) จำนวน 45 ล้านบาท

         วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญาพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพิธีเชิงสัญลักษณ์โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารให้ผู้เสียหายทั่วประเทศ จากงบกลาง (เร่งด่วน) ภายใต้กิจกรรม “คุ้มครองคน  คุ้มครองสิทธิ : เพื่อสร้างวิถีชีวิตแห่งความเป็นธรรม” โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้เสียหายในคดีอาญาและทายาท ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้าร่วม

           สำหรับพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายในคดีอาญาในครั้งนี้ ภายใต้งบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลาง เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 45 ล้านบาท โดยมีผู้เสียหายได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนทั้งสิ้น 850 ราย ซึ่งมีผู้เสียหายจากคดีทั่วไปและคดีที่สาธารณชนให้ความสนใจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนมารับมอบเงินช่วยเหลือ จำนวน 15 ราย เป็นเงินจำนวน 1,313,411 บาท พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่  2 ) พ.ศ. 2559)  ได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาบุคคล 2 กลุ่ม ได้แก่ 

         1. ผู้เสียหายในคดีอาญา ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องการกระทำความผิดนั้น หรือที่เรียกว่า “เหยื่ออาชญากรรม” 

        2. จำเลยในคดีอาญา ที่ถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำความผิดอาญา และถูกจำคุกในระหว่างพิจารณาคดี ต่อมาได้มีการถอนฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษา ถึงที่สุดให้ยกฟ้องว่าจำเลยไม่มีความผิดหรือที่เรียกว่า “แพะ” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้รับงบประมาณประจำปี จำนวน 400 ล้านบาท เพื่อเยียวยาให้แก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว แต่ด้วยงบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือเยียวยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้เห็นชอบให้ของบกลาง จำนวน 45 ล้าน เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา โดยได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วทั้งสิ้น 8,341 ราย เป็นเงินกว่า 445 ล้านบาท 

       กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงได้จัดพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายคดีอาญา ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากเงินงบกลาง (เร่งด่วน) เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ออกไปอย่างกว้างขวาง และให้ประชาชนได้ทราบถึงสิทธิตามกฎหมาย และยังเป็นการชี้แนะช่องทางการให้บริการภารกิจคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของกระทรวงยุติธรรม ผ่านสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้กระจายอำนาจการพิจารณาให้ความช่วยเหลือไปทั้ง 76 จังหวัด ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่าง สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม ต่อไป  

วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เพจปลอม"ยุติธรรม" ระบาดตุ๋นประชาชน

 

      กระทรวงยุติธรรม แจ้งเตือนระวังเพจเฟซบุ๊กสำนักงานยุติธรรมจังหวัดปลอม

       กระทรวงยุติธรรม ขอแจ้งเตือนประชาชนในกรณีที่มีผู้แอบอ้างและปลอมชื่อเฟซบุ๊กของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดในหลายจังหวัด โดยได้มีการใช้รูปและมีเนื้อหาเดียวกันกับเฟซบุ๊กของสำนักงานยุติธรรมจังหวัด โดยติดต่อไปหาประชาชนหรือผู้ร้องเรียนผ่านช่องทาง Facebook Messenger และแจ้งว่าสามารถให้ความช่วยเหลือและติดตามคดีที่ประชาชนขอรับความช่วยเหลือได้ จากนั้นจะขอข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด หมายเลข บัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ และข้อมูลทางการเงิน (หมายเลขบัญชีธนาคาร หรือเลขบัตรเครดิต) เป็นต้น รวมไปถึงหลักฐานทางคดีความ 

        กระทรวงยุติธรรม ขอแจ้งเตือนประชาชนว่า ไม่มีนโยบายขอข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน ผ่านช่องทางออนไลน์ และไม่มีการเรียกเก็บค่าดำเนินคดีหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง อย่าได้หลงเชื่อ ไม่กรอกข้อมูลส่วนบุคคลและไม่แชร์ต่อเด็ดขาด 

        ทั้งนี้ ประชาชนสามารถขอรับความช่วยเหลือหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77 แอปพลิเคชัน Justice Care หรือหมายเลขโทรศัพท์สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ