วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ย่ำต๊อกสะพานพุทธหม่ำเตี๋ยว

        ารเดินย่ำต๊อกไปตามตรอกซอก ซอย ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ถือเป็นการท่องเที่ยววิถีหนึ่งของผมก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะได้ออกกำลังขาแล้ว เรายังได้เห็นและสัมผัสวิถีชุมชนด้านต่างๆ ที่บางครั้งหากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวก็คงเข้าไม่ถึง และไม่สามารถจะได้เห็นสิ่งต่างๆ จากชุมชนนั้นๆ ได้มากมายนัก นอกเสียจากเราจะเดินเท้าไปเรื่อยๆเหนื่อยก็พัก หิวก็กิน มันได้อรรถรสการท่องเที่ยวอีกแบบจริงๆ อย่างน้อยๆ ก็ได้เดินออกกำลังกายในวันที่เรายังมีแรงเดินอยู่
ไม่ใช่มาเดินออกกำลังกายกันในวันที่เราใกล้เดินไม่ไหวแล้ว
และในวันนี้ก็เช่นกัน รู้สึกอยากจะออกนอกบ้านนั่งรถเมล์มาเรื่อยๆ ในใจคิดอยากจะมาหาอาหารริมถนนแถวย่านเยาวราชอร่อยๆ กินหน่อย สุดท้ายเผลอหลับรถเมล์มาโผล่ใต้สะพานพุทธแถวปากคลองตลาด รีบลงจากรถโดยพลัน พร้อมๆ กับคิดในใจว่าจะเดินย้อนกลับไปแถวเยาวราชดีไหม แต่ระหว่างคิดอยู่นั้น สายตาผมก็โฟกัสไปเจอ "ก๋วยเตี๋ยวรถซาเล้ง" จอดอยู่แถวๆ ริมเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงปากคลองตลาด ผมไม่ปล่อยให้เป้าหมายหนีหาย รีบตรงดิ่งเข้าไปสำรวจทันที คิด
ในใจน่ากินฉิบเป๋งเลย เหลือบไปเห็นเก้าอี้กับโต๊ะว่างๆ ตั้งอยู่ใกล้ๆ อย่างนี้แล้วจะรอช้าทำไม "พี่ๆ บะหมี่หมูแดงชามนึง" ชั่วอึดใจเดียวก็ได้กินสมใจหมาย สนนราคาชามละ 30 บาท รสชาติสูสีกับร้านใหญ่ๆ น่ะขอบอก แถมได้ชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาอีกต่างหาก ตรงนี้ล่ะคือเสน่ห์ของการเดินเท้าท่องเที่ยว
     หลังจากกินก๋วยเตี๋ยวจนอิ่มแปล้ ก็มาเดินชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยา และก็คิดว่าจะไปเดินทอดน่องที่ไหนต่อดี...... 
นายตะลอน


วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

"บุตดา บุญโกมล" วิทยากรศูนย์ฝึกอาชีพจตุจักร เรียนตัดผมไม่ยาก ถ้าตั้งใจจริง

             ากจำกัดความ "ช่างตัดผม" แบบสั้นๆ กระชับๆ ก็คงหมายถึงคนที่มีอาชีพหลักในการตัด แต่ง เตรียม ทรงผมของผู้ชายและผู้หญิง และสถานที่ทำงานของช่างตัดผมทั่วไปก็คือร้านทำผม หรือร้านตัดผมนั่นเอง
             แน่นอนว่าผมหยิบยกเรื่องราวของ "ช่างตัดผม" มาเขียนถึง เพราะมีโอกาสมาพูดคุยกับ "อาจารย์บุตดา บุญโกมล" วิทยากรสอนตัดผมชายของศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร ที่คว้ารางวัลจากเวทีการแข่งขันประกวดตัดผมชาย โดยวิทยากรจากศูนย์ฝึกอาชีพเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ถึงเรื่องราวต่างๆ ของท่านและการตัดผมชาย ซึ่ง "อาจารย์บุตดา" เล่าว่า ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้หลายสิบปี ก่อนที่ตนเองจะเป็นวิทยากรสอนตัดผมชายของกรุงเทพมหานคร เคยเป็นช่าง

ตัดผมชายมานานมากกว่า 30 ปี จนกระทั่งมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทำงานใน กทม.มาให้ตัดผม และเห็นว่าตนเองตัดผมฝีมือดี จึงชักชวนให้มาเป็นอาจารย์สอนตัดผมชาย ที่ศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหาคร ซึ่งตอนนั้นในปี 2539 ก็ได้ไปสอนที่โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (ม้วน บำรุงศิลป์ ลาดพร้าว 71) ซึ่งเป็นรุ่นแรก สอนได้ประมาณ 6 ปี หลังจากนั้นปี 2546 จึงได้มาสอนที่ศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร จนถึงปัจจุบัน
"อาจารย์บุตดา" เล่าอีกว่า ประมาณปี 2516 ในยุคที่ตนเองเป็นช่างตัดผม ค่าตัดผมหัวละ 10 บาท ทรงผมชายที่นิยมตัดกันมาก ก็เป็นรองทรง รองหวี นักเรียน และทรงอเมริกัน สำหรับทรงอเมริกันถือเป็นทรงที่ตัดยากในขณะนั้น เพราะข้างบนศีรษะจะต้องตัดผมให้เรียบเหมือนลานบิน สมัยนั้นตนเองชอบตัดรองทรงให้ลูกค้ามากที่สุด และตอนเรียนตัดผมจบมาใหม่ๆ ได้ไปอยู่ร้านตัดผมที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งเป็นร้านใหญ่ ปรากฏว่าไม่สามารถตัดผมทรงอเมริกันได้ เพราะเป็นอะไรที่ยากมากขณะนั้น ทางร้านจึงให้มาประจำอยู่ร้านเล็กๆ แทน ซึ่งถือเป็นประสบการณ์การตัดผมที่ตนเองจำได้ดีทีเดียว
            "อาจารย์บุตดา" บอกว่า หลังจากที่ผันตัวเองจากช่างตัดผมมาเป็นอาจารย์สอนตัดผม ก็นำวิชาความรู้จากประสบการณ์จริงที่สั่งสมมานาน มาถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน คือสอนให้ผู้ที่มาเรียนสามารถตัดผมทรงต่างๆ ได้ และต่อยอดพัฒนาวิชาชีพในขั้นที่สูงขึ้นต่อไปได้ ซึ่งการที่จะเป็นช่างตัดผมนั้น จะต้องขยันเรียนรู้ มีประสบการณ์ และมีฝีมือในการตัดผม เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจะทำให้เกิดประสบการณ์และเก่งในที่สุด ซึ่งการเรียนตัดผมไม่มีอะไรยาก ถ้าเราตั้งใจจริง โดยเฉพาะการได้เรียนรู้พื้นฐานการตัดผม การใช้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ตัดผมด้วย ซึ่งการเรียนพื้นฐานถือว่าจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นช่างตัดผมในอนาคต
    "ในฐานะที่ตนเป็นวิทยากรและอาจารย์สอนตัดผมชาย ทุกครั้งที่ทราบข่าวว่าลูกศิษย์ที่เคยเรียนกับตนไปเปิดร้านตัดผมบ้าง ไปเป็นช่างตัดผมตามที่ต่างๆ บ้าง บางคนก็ต่อยอดไปเป็นอาจารย์สอนตัดผมก็มี จึงรู้สึกดีใจกับการที่นักเรียนได้นำวิชาชีพที่เรียนไปต่อยอดสร้างงานสร้างเงินได้" อาจารย์บุตดา กล่าว
               ช่วงสุดท้ายของ "ตะลอนตามอำเภอใจ" ส่วนมุมมองระหว่างร้านตัดผมสมัยใหม่กับร้านตัดผมสมัยเก่า "อาจารย์บุตดา" มองว่าก็คล้ายกัน เพราะเป็นการพลิกแพลงต่อยอดในการตัดผม ซึ่งการตัดผมบางครั้งช่างก็ไม่ได้ออกแบบทรงผมเอง เราต้องตามใจลูกค้าในการตัดแต่งทรงผม กลายเป็นแบบทรงผมเฉพาะลูกค้าคนนั้นๆ เหมือนกัน แม้ช่างตัดผมจะมองว่าทรงผมนี้สวย แต่ลูกค้าอาจมองว่าไม่สวย ช่างก็ต้องตามใจลูกค้า ซึ่งไม่ว่าการตัดผมจะพิสดารแค่ไหน ช่างตัดผมใหม่ๆ จะต้องเรียนรู้ทรงพื้นฐานต่างๆ เพื่อต่อยอดในการตัดแต่งออกแบบทรงผมต่างๆ ต่อไป... !!!
                                                            นายตะลอน

(ปล.ขอขอบคุณภาพจากนักเรียนแผนกตัดผมชายรุ่น 2/61 ศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร)