"ตะลอนตามอำเภอใจ"-เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปที่อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาดูงาน โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ของ "นายอำเภอ" ในโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งผมคงต้องบอกว่า "โชคดี อมรวัฒน์" นายอำเภอไชยปราการ สามารถประสานความร่วมมือ และระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แถมยังได้จัดหาปัจจัยไว้รองรับด้วยธรรมชาติที่สวยงาม อันจะสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน...มิรู้ลืม
"อำเภอไชยปราการ" ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีปรากฏว่า พระเจ้าพรหมกุมารได้มาตั้งเมืองไชยปราการ (ทางด้านทิศตะวันออกของลำน้ำฝาง) เมื่อพ.ศ.1661 และเมืองไชยปราการนี้เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาไทยมาสมัยหนึ่ง ต่อมาอารยธรรมแถบนี้เริ่มคลายตัวลงประมาณปี 1839 เมื่อพญามังรายได้ย้ายศูนย์กลางจากเมืองเชียงรายไปทางทิศใต้ และสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงขึ้นใหม่ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง
"เมืองไชยปราการ" เป็นเมืองที่แฝงไว้ด้วยความงดงามอันบริสุทธิ์ของธรรมชาติมากมายและยังเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีผลิตผลทางด้านเกษตรกรรมที่เชิดหน้าชูตาหลากหลาย ได้แก่ ลิ้นจี่ กระเทียม โคนม ฯลฯ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้เห็นความสำคัญในข้อนี้ อีกทั้งเห็นว่าสภาพท้องที่โดยทั่วไปเชื่อว่าจะมีความเจริญมากขึ้น และจะสามารถขยายตัวยิ่งขึ้นต่อไปในภายหน้า เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครอง และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงได้ประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอไชยปราการ โดยแยกมาจากอำเภอฝาง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2530 และยกฐานะเป็นอำเภอไชยปราการ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2537
อันที่จริงการมา "ตะลอนตามอำเภอใจ" ในพื้นที่อำเภอไชยปราการครั้งนี้ ผมคงต้องบอกว่ามีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจในอำเภอไชยปราการ แต่วันนี้จะขอหยิบยกสถานที่ท่องท่องสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอไชยปราการ ตามที่ "โชคดี อมรวัฒน์" นายอำเภอไชยปราการ มีส่วนสำคัญในการผลักดันจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

การเกิดสภาพกาดเมืองผี หรือค่าอายุของดินแห่งนี้ อยู่ในยุค Quaternary เป็นยุคเดียวกับแพะเมืองผี จังหวัดแพร่ แต่มีความวิจิตรอลังการและยิ่งใหญ่กว่ามาก ลักษณะการเกิดของเสาดินเกิดจากการชะล้างของฝน ส่วนที่เป็นดินก็จะผุพังทลาย เหลือแต่ส่วนที่เป็นหินและทราย จึงเกิดเป็นรูปร่างต่างๆ แตกต่างกันไป เป็นพื้นที่ลอนคลื่นสภาพสูงๆ ต่ำๆ ไม่สม่ำเสมอกัน ตรงหน้าผาดินทรายสูงประมาณ 30-40 เมตร ยาวประมาณ 500 เมตร บริเวณหน้าผามีเสาหินทรายคล้ายๆ เห็ด หรือเสาหินปราสาทโรมัน มีอายุประมาณ 15 ล้านปี เกิดจากหิน Semiconsoidayged คือ หินที่ยังแข็งตัวไม่เต็มที่ ประกอบด้วยชั้นดินทรายและชั้นหินทรายสลับกันเป็นชั้นๆ ที่มีความต้านทาน การผุพังน้อยก็จะถูกกัดกร่อนคงเหลือส่วนที่ผุพังยาก มองดูแล้วสวยงามอย่างมาก
ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ "วิชัย วันชาติ" รองนายก อบต.ศรีดงเย็น และชาวบ้านอีกหลายคนที่มาร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่ดังกล่าว และเดินทางมาชมความงดงามของ "กาดเมืองผี" หลายคนบอกเหมือนกันว่า "กาดเมืองผี" เป็นที่โล่งมีต้นไม้ขึ้นประปราย เวลาฝนตกจะถูกลมพัดไปกองรวมกันโคนต้นไม้เหมือนมีผู้เก็บกวาดให้สะอาด แต่ก่อนชาวบ้านผ่าน "กาดเมืองผี" เพื่อที่จะไปไร่ สวน ใช้สถานที่แห่งนี้แวะพักผ่อน และตั้งจิตอธิฐานให้ทำงานทำการสำเร็จก็จะได้ดังใจหมาย วันดีคืนดีชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง "กาดเมืองผี" จะได้ยินเสียงตีระฆัง ตีฆ้อง ดังกังวาน ยิ่งหากเป็นวันพระ หรือคืนวันเพ็ญ จะได้ยินเสียงร้องโหยหวนดังออกมาด้วย

"โชคดี อมรวัฒน์" นายอำเภอไชยปราการ บอกว่า ดินแดนอัศจรรย์แห่งนี้ แม้จะไม่มีผู้ใดทราบประวัติแน่นอน แต่ก็มีการเล่าสืบทอดกันมาว่า แต่ก่อนบริเวณป่าแห่งนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หนาแน่นและสัตว์ป่าน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก ในสมัยนั้นมีชาวบ้านเข้าไปหาของป่าเป็นอาหาร แต่หลงป่าหาทางกลับออกมาไม่ได้จึงเดินไปเรื่อยๆ จนไปพบเมืองอีกเมืองหนึ่งซึ่งเป็นเมืองที่มีผู้คนมากมาย มีตลาด มีการขายสินค้าต่างๆ หลากหลายชนิด ชาวบ้านที่เข้าไปด้วยกันนั้นได้ซื้อของติดไม้ติดมือกลับออกมาด้วย โดยมีคนในเมืองนั้นพากลับออกมาจากป่านั้น ทันทีที่คนในเมืองนั้นได้กลับไป ของที่ทุกคนซื้อมานั้นก็กลายเป็นเศษใบไม้ใบหญ้า และกรวดหิน
ด้วยเหตุที่ "กาดเมืองผี" ถูกผลักดันจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนของอำเภอไชยปราการ โดยบทบาทของ "โชคดี อมรวัฒน์" นายอำเภอไชยปราการที่เป็นแกนกลางประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ จน "กาดเมืองผี" กลายเป็นจุดเด่นสำคัญด้านการท่องเที่ยวของอำเภอไชยปราการที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้การยอมรับว่าเป็นอำเภอที่ริเริ่มสรรหาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวดีเด่น และได้บรรจุแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอไชยปราการในปฏิทินท่องเที่ยวของ ททท. ถือเป็นความภูมิใจของอำเภอไชยปราการ...!!!
นวย เมืองธน
********************************************